อันดับแรก ก็ต้องบอกก่อนตามธรรมเนียมล่ะครับผม ว่างานนี้เขียนยาวแหงๆ ถ้าไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ล่ะจะข้ามไปซะตอนนี้ก็ไม่ว่าอะไรกันครับ
จริงๆ เพื่อนผมหลายคนก็ชอบถามนะว่า ทำไมต้องเขียนตั้งยาวล่ะ?
ผมก็เลยชอบบอกเขากลับไปว่า แล้วทำไมต้องเขียนให้สั้นด้วยล่ะ?
ดูเหมือนผมจะตอบยวนๆ นะครับ แต่ใจจริงไม่เชิงอย่างนั้นหรอก ก็ผมอยากบรรยายสิ่งต่างๆ ถ่ายทอดลงไปให้มันครบองค์ประชุม คิดอย่างไงก็ว่าตามนั้น ชอบไม่ชอบก็เล่ากันไปไม่ปิดบัง ดังนั้นความยาวมันก็ยาวเท่าที่ผมอยากจะเล่านั่นแหละ มันจึงเป็นคำตอบว่าทำไมต้องเขียนยาว ก็หนังเรื่องไหนมันมีอะไรให้ผมเอาไปไตร่ตรองได้เยอะ มันก็จะไหลมาเทมาแบบนี้นี่แหละ
หรือบางคนก็ชอบถามว่า ทำไมต้องเขียนแบบคุยกันผู้อ่านแบบนี้ด้วยล่ะ?
ท่านคงเดาคำตอบของผมได้นะครับว่าผมจะตอบไปอีแบบไหนกัน
นั่นก็เพราะผมอยากนำเสนออย่างนั้น ผมเขียนลงไปในสิ่งที่ผมอยากอ่าน มี “ครับ” มีฮาเป็นระยะๆ ตามสไตล์และมือที่พริ้วไปตามคีย์บอร์ด
และมันอาจประจวบเหมาะพอดีที่ผมคิดอะไรทำนองนี้ได้เป็นวรรคเป็นเวร ในช่วงที่จะเขียนถึงหนังเรื่องนี้ … ใช่ครับ มันเกี่ยวกัน
ผมจำได้ว่าตอนดูหนัง The Village เรื่องก่อนของพี่มาโนช (M. Night Shyamalan นั่นแหละ) ผมออกจากโรงมาท่ามกลางความหงุดหงิดบางประการ ในใจเกิดคำถามมากมายไปหมด โดยส่วนตัวผมไม่ชอบ The Village เท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะมันไม่หักมุมหรือมันไม่เร้าใจอะไรหรอก เพียงแต่บทสรุปมันไม่แรงพอในความคิดผม และผมคิดไปอีกแบบว่า มันน่าจะจบอีกแบบหนึ่งซึ่งจะทำให้หนังมีลุ้นขึ้น ผมไม่เข้าใจว่าทำไมแกทำหนังเรื่องนั้นออกมาพื้นๆ ยังไงก็ไม่ทราบ
ส่วนตอนนี้ ผมก็ไม่ได้ชอบ The Village มากขึ้นหรอกครับ แต่เข้าใจหนังมากขึ้น เข้าใจว่า “นี่แหละ สิ่งที่พี่มาโนชแกอยากสื่อให้คนดูได้ดู” เขาอยากสื่ออะไร เขาไม่ได้อยากตั้งหน้าตั้งตาระทึกขวัญคนดู แต่เขาอยากให้คนดูดูแล้วเก็บเอาไปคิด ไม่ว่าจะเรื่องชีวิตคนในหมู่บ้านนั่น หรือการตัดสินใจของผู้นำหมู่บ้านที่ทำอะไรลงไป เขาทำเพื่อรักษา “สังคม” ที่เขาต้องการเอาไว้ ส่วนถ้าพูดถึงความระทึกล่ะแกทำได้อยู่แล้ว อย่าง Signs เงี้ย ดูแล้วเกร็งกำลังดี
ดังนั้นในความคิดผม The Village มันโดนใจ แต่ไม่ใช่หนังห่วยแน่ๆ และความคิดนั้นก็ระบาดมาจนตอนผมดูหนังเรื่องนี้ และก็ตามเคยครับ Lady เนี่ย ไม่เลว เกือบจะโดนใจ แต่ก็ยังไม่เต็มที่ ในแง่ความเป็นหนังและเนื้อหาต่างๆ ยังไม่เต็มร้อย …
… ทว่า มีอะไรแฝงเยอะอิ๊บอ๋าย
ท่านคงทราบเป็นเลาๆ แล้วนะครับ เพราะพี่มาโนชแกเน้นยำมากๆ ว่านี่คือนิทานก่อนนอนอันที่เขาเล่าให้ลูกๆ ฟัง และก็จับมาขยับขยายเป็นเรื่องราวอย่างที่เห็น หนังเล่าเรื่องของคลีฟแลนด์ ฮิพ (Paul Giamatti) ผู้ดูแลอพาร์ตเมนท์ เดอะ โคฟ วันๆ ชีวิตเขาก็ผ่านไปอย่างจำเจครับ ซ่อมโน่นซ่อมนี่ไปเรื่อย และอยู่มาวันหนึ่ง เขาก็พบหญิงสาวแหวกว่ายอยู่ในสระน้ำส่วนกลาง เธอบอกว่าเธอชื่อ สตอรี่ (Bryce Dallas Howard) ท่าทางผิวพรรณเธอดูประหลาดชอบกล จนคลีฟแลนด์สงสัยและพยายามหาคำตอบ โดยการถามผู้เช่าอพาร์ตเม้นท์ที่รู้ตำนานโบราณ และเขาก็ได้คำตอบว่า เธอคือ นาร์ฟ สิ่งมีชีวิตในเทพนิยายอย่างหนึ่ง ที่มายังโลกด้วยจุดประสงค์บางอย่าง และเธอต้องหาทางกลับไปยังมิติของเธอก่อนหมดเวลา
เป็นไงต่อ … ไปดูเองเถิดครับ ผมมันคนเล่าน้อยอยู่แล้ว แต่ขออนุญาตบอกก่อนเลยว่า นี่ไม่ใช่หนังสยอง ไม่ใช่หนังระทึกแบบ Signs ไม่มีมุมอะไรให้หัก มันคือหนังเทพนิยายสไตล์พี่มาโนชที่มีอะไรอร่อยๆ แฝงอยู่เพียบ ถ้าท่านเก็บมาคิดดีๆ น่ะนะครับ
แต่ถ้าถามผมตรงๆ ผมก็ต้องตอบตามเคย ว่าหนังน่ะเฉยๆ อ้ะ มาแยกกันหน่อยนะครับ ผมจะว่าทีละส่วน อันนี้พูดในแง่หนังซักเรื่องนึงก่อน จังหวะของหนังยังไม่ค่อยกลมกล่อมครับ เรื่อยๆ ไปบ้าง บางช่วงก็เร่งจนจับอารมณ์ไม่ทัน การเร้าอารมณ์ก็ไม่เท่าไหร่ คือถ้าพี่แกทำแบบ Signs ไปเลยคงมันส์โคตรน่ะครับ เพราะสไตล์ของมันคือเทพนิยายจริงๆ จากโครงเรื่องมันประมาณว่าสตอรี่เธอต้องกลับไปยังโลกของเธอ แต่ก็มีสิ่งชั่วร้ายบางอย่างคอยขวางเธอทุกวิถีทาง ไอ้ขวางนี่ไม่ขวางเปล่า แต่จะฆ่าเธอเลยเนี่ยซี่ (เธอสำคัญยังไงต้องลองดูเองครับ) ทำให้คลิฟแลนด์ต้องหาทางปกป้องเธอและส่งเธอกลับไปยังโลกให้สำเร็จ
โหย ฟังจากเนื้อเรื่องนี่เชื่อเถอะครับ เอามาทำเป็นอภิมหาหนังแนวแฟนตาซีสไตล์ The Lord of The Rings หรือ The Chronicles of Narnia ต้องถึงแก่ความมันส์ๆ เนื้อเรื่องมันให้น่ะครับ เอาแค่ตอยท้ายถ้าทำดีๆ หน่อยให้ชาวอพาร์ตเม้นท์ช่วยกันรวมพลังล่ะรับรองมันส์ๆๆๆ
แต่พี่มาโนช แกเลือกทำเป็นแนวธรรมดา เอื่อยๆ เดาได้ … ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ผมคงนั่งเผาแกเหมือนเคยล่ะครับ แต่เผอิญมานั่งคิดได้หลังๆ นี่เอง ทำให้นอกจากไม่เผาแล้ว ยังมานั่งคิดด้วยซ้ำว่า ทำไมแกถึงทำหนังธรรมดาๆ ล่ะ ทั้งๆ ที่สามารถทำเป็นแฟนตาซีผจญภัยอย่างมันส์ได้ (ตอนแรก Lady นี้พี่มาโนชแกจะทำร่วมกับค่าย Disney ครับ แต่เกิดมีความขัดแย้งบางประการขึ้น พี่ท่านเลยย้ายสำมะโนครัวมาที่ Warner Bros แทน ซึ่งถ้าให้เดา คงเพราะ Disney อยากดัดแปลงเนื้อเรื่องให้กลายเป็นหนังแฟนตาซีสนุกๆ แบบที่ผมบอกน่ะแหละ แต่ท่าทางพี่มาโนชแกยืนกรานเจตนาเดิม เลยไม่ยอม)
แต่ที่แกไม่ทำ ก็เพราะ แกไม่ทำนั่นเอง แกบอกแล้วครับแกจะทำนิทานก่อนนอนไม่ใช่ Lord of the Rings สไตล์ของหนังเลยออกมาเรียบๆ แบบพ่อเล่านิทานให้ลูกฟังจริงๆ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้าง กล่าวคือแกอยากทำแบบนี้เลยทำ เหมือนกับที่ผมเกริ่นไว้น่ะแหละ ผมอยากเขียนแบบไหนก็เขียน เพราะมันเป็นแบบผม เช่นกัน พี่มาโนชแกทำมาแบบนี้ ผมก็ได้แต่เคารพสิ่งที่เขาสร้างขึ้น
ถ้าถามว่าทำไมแกถึงไม่ทำให้มันอลังการ อันนี้ผมก็ไม่รู้หรอก ได้แต่เดาๆ ว่าแกไม่ได้อยากให้เราพุ่งประเด็นสนใจไปที่ความยิ่งใหญ่ แต่แกอยากให้เรานั่งพินิจหนังแกมากกว่า เพราะหนังเขามีอะไรน่าเอาไปพินิจเยอะดี และหนังของพี่มาโนชแกมักจะชัดเจนในแนวคิดที่อยากเสนอ
เราลองมานั่งย้อนมองหนังของแกดีมั้ยครับ ขอเริ่มตั้งแต่ The Sixth Sense น่ะ (เพราะก่อนหน้านั้นยงไม่เคยดูเลย) ก็จะพบว่าหนัง Sixth Sense คนชอบมากที่สุด เพราะแนวคิดในเรื่องมันสากล มันเป็นเรื่องผี วิญญาณ ชีวิตหลังความตาย คนส่วนมากเลยมีประสบการณ์ร่วมอย่างไม่ต้องสงสัย ก็ผีอ้ะ ความน่ากลัว ความลึกลับเป็นสิ่งที่ทุกคนแทบทั้งโลกรู้เกือบจะตรงกันหมด
แต่พอดูหนังเรื่องต่อๆ มา ก็โดนสับบ้างบ่นบ้าง อย่าง Unbreakable ก็โดนไปเยอะ ยอมรับครับว่ารอบแรกที่ดูผมก็บ่นเหมือนกัน แต่พอดูดีๆ เก็บรายละเอียดก็ชัดว่าแกสื่อถึง “การ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร”่ บวกกับแนวคิดที่ว่า “Man Born With Purpose” หรือคนเราเกิดมา พร้อม จุดประสงค์ เราทุกคนเกิดมาเพื่อบางอย่าง ผมดูตรงนี้แล้วรู้สึกว่าแกใส่อะไรทำนองนี้อยู่ตลอดในเรื่อง
สำหรับ Signs นั้น เน้นบรรยากาศที่กดดันในตอนท้ายและเรื่องของสัญญาณลึกลับที่ว่ากันว่ามาจากต่างดาว ซึ่งเรื่องนี้แกเน้นอารมณ์สร้างความกดดันมากกว่า แต่แนวคิดเกี่ยวกับ “ความเชื่อ” ในปาฏิหาริย์ก็ยังค่อนข้างชัดในช่วงท้าย
ส่วน The Village นั้น เดินเรื่องเอื่อย ดูแบบเรื่อยๆ เกินไป แต่พอมาชำแหละภายในแกแฝงเรื่องคน เรื่องสังคม เรื่องการจมกับอดีต เรื่องการไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เรื่องความกลัว เรื่องความห่วงใยและเรื่องความเห็นแก่ตัว … อย่างที่บอกครับ ดูรอบแรกแล้วเฉย แต่พอมาพิจารณาดีๆ สิ่งที่แกทำ ผมขอจำกัดความว่าเป็นการ “ยัดสมุนไพร อบใส่ไก่งวง”
ที่บอกแบบนี้คือ เวลาเรากินเราจะกินไก่งวงเป็นหลัก เวลาเราเฉือนมีดเอามันเข้าปาก เราก็จะดูแต่รสของมัน ชื่นชมแค่ว่ามันอร่อยหรือไม่ ถ้ารสไม่ถูกปากเราก็จะบ่นว่า “ไม่อร่อย” แล้วก็เดินจากไป อาจจะเอาไปบอกใครต่อด้วยว่า ไก่งวงอันนี้ไม่อร่อยเลยว่ะ โดยที่เขาไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วไก่งวงนั้นได้รับการอบสมุนไพรอย่างดี กินแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายสุดๆ
แต่คนเรามักชอบสนใจ แค่อะไรที่โรยหน้าหรือที่ตาเห็นเท่านั้น
แต่ผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ ก็ในเมื่อไก่งวงมันไม่อร่อยจริงๆ ก็ต้องว่าตามนั้น ทว่าอย่าลืมครับว่า แม้ไม่อร่อย แต่ไม่ได้แปลว่าไร้คุณค่า เหมือนยาอ้ะ ขมมั้ย .. ขมเน้อะ ไม่อร่อยเลย ไม่จ้างก็แทบไม่อยากแตะ แต่มีคุณค่ามั้ย? … ผมว่าคุณรู้คำตอบนะ
ดังนั้นหนังไม่สนุก ไม่มันส์ก็เรื่องหนึ่ง แต่สาระที่แทรกลงมาในหนังก็น่าลองเก็บไปเป็นกำไรคิดนะ
ครับ อย่างที่บอก หนังพี่มาโนชมีแค่ The Sixth Sense เรื่องเดียวที่รุ่งโรจน์ นอกนั้นก็โดนด่าหาน้อยไม่ เพราะหน้าหนังไม่ถูกปากบ้างล่ะ เพราะไม่มีประสบการณ์ร่วมกับหนังบ้างล่ะ (อย่าง Unbreakable เงี้ย ถ้าใครปเ็นแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนแนวฮีโร่น่าจะโดนอะไรบ้างนะ)
ว่าตามตรงคือหนังพี่มาโนชแกโรคจิตครับ ดูตัวหนังอย่างเดียวไม่ได้ต้องคิดตามด้วย ดังนั้นหนังของแก ถ้าท่านดูแค่เนื้อเรื่องกับการเดินเรื่องอย่างเดียวแล้วบ่นว่าห่วย แล้วจบ แสดงว่าท่านพลาดการสื่อสารของพี่มาโนชไปแล้วนะครับ เพราะแกสื่อกับเรา 2 ชั้น ชั้นแรกคือหน้าหนัง และชั้นสองคือแง่คิดที่แกผูกขึ้นมาเล่าให้เราฟัง … และโดยส่วนตัวผมว่าแกอยากให้คนดูรับถึงตรงนี้มากกว่า … โดยเฉพาะกับหนังเรื่องนี้
หนังเป็นนิทานก่อนนอนครับ และธีมหลักคือการเอาเรื่องแบบเทพนิยายมายำลงไป ทั้งตัวละครเหนือธรรมชาติและตัวละครอื่นๆ ในหนังซึ่งไปๆ มาๆ จากคนธรรมดาในอพาร์ตเม้นท์ก็กลายมาเป็นหนึ่งในนิทานก่อนนอนเรื่องนี้ไป ดังนั้นธีมหลักจึงเล่นกับเรื่องของความเชื่อ การเล่านิทาน และจินตนาการของมนุษย์เรา ซึ่งก็เป็นการเอา “กฎของนิทานก่อนนอน” มาเล่าให้เราดู เหมือน Unbraekable ที่เอา “กฎของการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่” มาเล่น (เช่นประโยคที่ว่า ฮีโร่ต้องมีจุดอ่อน) ซึ่งใน Lady นี้ถ้าดูก็จะเห็นกฎเยอะเหมือนกันครับ เช่น ในนิทานก่อนนอนต้องมีตัวละครประเภท “ผู้พิทักษ์” ต้องมี “ผู้รักษา” เป็นต้น ซึ่งคนที่ดูแล้วคงรู้ว่าใครเป็นใครน่ะนะครับ ผมดูก็พยักหน้าไปว่า เออ จริงวะ นิทาน เทพนิยายส่วนมากมันก็ต้องมีไอ้ตัวพวกนี้จริงๆ ต้องมีพวกใช้กำลัง ใช้สมอง และใช้ความสามารถเฉพาะตัวเป็นตัวเดิน
สำหรับผม เลยยอมรับโดยปริยายว่า นี่เป็นนิทานจริงๆ
นั่นคือ ธีมหลักที่หนังเน้นเสนอให้เรารู้ แต่เปล่าครับ หนังไม่ได้มีแค่นั้น หนังมันแฝงอะไรมากกว่านั้นเยอะเหลือเกิน
อ้ะ บางคนดูแล้วสงสัย มันแฝงอะไร ผมลองชี้ชวนให้ลองมองแล้วกันนะครับ สังเกตดูดิ หนังเรื่องนี้มีดาราเป็นคนเอเซียเป็นส่วนมาก …
พี่มาโนชแกก็เป็นคนเอเซีย หรือตัวละครอย่าง ชอยยังซุน (Cindy Cheung) เด็กสาวกับแม่ของเธอที่คลีฟแลนด์ต้องไปขอให้ช่วยเล่า “ตำนานเทพนิยายก่อนนอน” อันนี้ ก็เป็นคนเอเซีย หรือตัวละครที่พี่มาโนชแกโดดลงไปเล่นเองนั้นก็คือ วิค แรน นักประพันธ์ ชาวเอเซีย
สังเกตสิครับ ว่าตัวละครที่ต้องเล่าตำนาน หรือทำงานเกี่ยวกับงานเขียน (ซึ่งก็คือการเล่าอีกรูปแบบหนึ่ง) มาเป็นเอเซียหมดเลย … พี่มาโนชแกตั้งใจจะบอกอะไรกับเราหรือเปล่า?
ตอนแรกผมก็เหมือนจะไม่คิดอะไร แต่ไปๆ มาๆ อดคิดไม่ได้โดยเฉพาะตอนที่แม่ของยังซุนซึ่งรู้ตำนานนี้อย่างละเอียดเกิดไม่ยอมเล่าเรื่องให้คลีฟแลนด์ฟังอีกต่อไป จนพี่แกต้องยอมทำตัวเป็นเด็ก ทำเป็นกินนม กินขนมเหมือนเด็ก 5 ขวบ แล้วก็ทำท่าร้องขอให้เธอเล่านิทานให้ฟัง ซึ่งก็เป็นฉากฮาเหมือนกันครับ (Giamatti เล่นได้ดีจริงๆ) แต่นอกจากฮาแล้วยังน่าคิด
ไม่รู้สิครับ ผมมานั่งดูระยะหลังๆ อดคิดไม่ได้ว่าหนัง Hollywood เหมือนจะถึงทางตัน สุดท้ายเลยต้องหยิบยืมหยิบยก ขอซื้อบทหนังจากทางฟากเอเซียไปอย่างจ้าละหวั่น ผมเลยอดมองไม่ได้ว่าแกจะสื่ออะไรทำนองนี้หรือเปล่า และสิ่งที่ผมคิดเสมอมา ไม่ได้ยอหรือเข้าข้างชาาตะวันออกอย่างพวกเรานะครับ แต่ไอ้เรื่องพวกจินตนาการต่างๆ ส่วนมากฟากเราจะกินขาด เอาแค่การ์ตูนตะวันตกมาเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่นก็พอแล้วครับ จินตนาการความลึกซึ่ง มันมีความต่างอย่างเห็นได้ชัด
ไม่รู้ว่าพี่มาโนชแกจะอำอะไรฝั่งตะวันตกหรือเปล่าน้อ?
แล้วยังมีอีกจุด ก็คือ ตัวละครที่ชื่อ แฮร์รี่ ฟาร์เบอร์ (Bob Balaban) ไอ้คนที่เพิ่งย้ายเข้าไปในอพาร์ตเม้นท์นั่นแหละครับ ที่เป็นนักเขียนเรื่องหนังอะไรนั่น ดูๆ ตอนแรกก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าพี่มาโนชแกจะใส่ตัวละครนี้มาหาอะไร เพราะมันแทบไม่มีบทบาทเลย … แต่พอมาคิดแล้ว ไอ้พี่คนนี้เหมือนจะไม่มีอะไร … แต่มีอะไรครับ
แฮร์รี่เหมือนเป็นคนที่มองอะไรอย่างตะวันตก มองอย่างแพทเทิร์น เป็นระบบและอยู่บนโลกของเหตุผล แกเลยชอบวิจารณ์สิ่งต่างๆ โดยใช้เหตุผล อย่างตอนที่แกยืนบ่นว่า ทำไมหนังแนวโรแมนติกมันชอบมีฉากตัวละครไปทำอะไรกลางสายฝน หรือตอนที่พี่แกสาธยายเป็นวรรคเป็รเวรว่า ฉากแบบนี้ต้องมาจากหนังครอบครับ หรือมาจากหนังสยอง หรือมาจากอะไร แกก็บอกเป็นหลักเรียงมาเลย และตอนที่สำคัญสุดคือตอนที่คลีฟแลนด์ไปขอความเห็นเรื่อง “ตัวละคร” ในเทพนิยายกับแก พี่แกก็เล่าไล่เรียงตามหลักตรรกะเหตุผลครบถ้วน
แต่หนังก็ชี้ให้เราคำนึงว่า เรื่องบางเรื่องน่ะจะเอามาเหตุผลแพทเทิร์นมาใช้ไม่ได้หรอกนะ
และหนังก็มีตัวละครอีกตัว ซึ่งก็คือ วิค แรน (พี่มาโนชเล่นเองครับ) นักประพันธ์ที่แต่งงานเขียนตามแรงบันดาลใจของตนเอง เป็นเหมือนตัวที่จะเอามาเปรียบกัน
แฮร์รี่ ตัวแทนตะวันตก เขียนอะไรต่างๆ ตามแพทเทิร์น ตามตำราที่รู้มา ตามหลักเหตุและผล ในขณะที่วิคเหมือนเป็นตัวแทนด้านแนวคิดตะวันออก เขาจะพรรณนางานเขียนออกมาตามแรงบันดาลใจ ไม่ได้อิงแต่ตำราหรือปั่นออกมาแบบให้เสร็จๆ … เขาถ่ายทอดมันออกมาตามธรรมชาติของตนเอง เมื่อธรรมชาติในร่างกายของเขาพร้อมจะเขียนเขาก็เขียน แต่หากไม่พร้อม เขาก็ไม่เขียน
ดูดีๆ ตัวละครสองตัวนี้เป็นนักเขียนเหมือนกัน แต่การทำงานต่างกันมั้ย?
และอีกจุดที่เหมือนจะบอกอะไรก็คือ วิค นักเขียนที่กำลังเขียนงานที่ชื่อ The Cookbook นั้น ปรากฏว่างานเขียนชิ้นนี้จะมีความสำคัญต่อไปในอนาคต มีความสำคัญขนาดเปลี่ยนแปลงโลกได้ … ผมจะไม่บอกอะไรมากมายแล้วล่ะครับ แค่ดึงอะไรมาให้ท่านลองมองเท่านั้นเอง
นี่แหละครับท่านทั้งหลาย ดูแล้วมันมีอะไรแฝงอยู่เยอะ อย่างตำนานเรื่องคนน้ำ กับ คนบนดิน ที่เล่าตอนต้นเรื่องก็เหมือนจะบอกอะไรเราอีก ประมาณว่า เราเลือกที่จะเพิกเฉยต่อธรรมชาติที่หวังดีต่อเรา ทำนองนั้น หรือชื่อของ คลีฟแลนด์ ก็หมายถึง แผ่นดิน … คนบนดิน คนแรกที่คนน้ำอย่างสตอรี่ได้ติดต่อด้วย
พูดแล้วชักอยากไปดูอีกรอบ ไม่ใช่เพาะชอบ แต่เพราะอยากรู้ว่าแกจะซุกอะไรไว้อีกมั้ย
ผมกำลังทำอะไร ..? ผมก็เล่าสิ่งที่ผมคิดไงล่ะครับ เล่าถึงสิ่งที่ผมสัมผัสในหนัง … ใช่ครับ ผมชอบสิ่งที่แฝงนะ แต่ก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งครับ ว่าผมคงจะมองในฐานะแง่คิดอย่างเดียวไม่ได้หรอก เพราะนี่มันหนังครับไม่ใช่สารคดี สาระอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ เหมือนกับไก่งวงน่ะแหละ มีการอบสมุนไพรที่ดีแค่ไหน แต่ถ้ารสไม่กลมกล่อม เราก็ต้องว่าไปตามนั้น
และ Lady ก็ถือว่ายังไม่กลมกล่อมเท่าที่ควร
ประการแรกคือการเล่เารื่องที่ธรรมดาครับ ไม่ได้เร้าใจหรือดึงดูดเท่าที่ควร ยอมรับเหมือนกันว่ามีอยู่รอบนึง เพราะเรื่องมันแทบไม่ไปไหนอ้ะ ขนาดหนังยาวแค่ 98 นาที แต่ผมยังรู้สึกเหมือนว่ามันยังยาวไปเลย ก็มีช่วงยานๆ อยู่ไม่น้อย หรือจังหวะการเผยตัวละครก็ไม่ได้ลุ้นหรือน่าสนใจเท่าที่ควร พวกการเผยผู้พิทักษ์ ผู้รักษาเงี้ยครับ มาอย่างไม่ค่อยมีอะไร จะมีผู้พิทักษ์นี่แหละที่โผล่มาแบบน่าะใจหน่อย แต่นอกนั้นก็เรื่อยๆ เท่านั้นเอง
จุดอ่อนอย่างหนึ่งคือ หนังเป็นเรื่องเกี่ยวกับจินตนาการและความเชื่อด้วยส่วนหนึ่ง และจริงที่โดยโครงเรื่องพี่มาโนชแกทำโดยมีองค์ประกอบแห่งนิทาน แต่เผอิญว่าการเสนอมันยังไม่เนียนพอ ถ้าไม่มากไป ก็น้อยไป ประมาณว่าแฟนตาซีไม่มากเท่าที่ควรน่ะครับ แต่มาป้วนเปี้ยนกับเรื่องอะไรก็ไม่รู้เยอะไป ทำให้คนดูยังไม่สามารถลงไปถึงโลกแห่งเทพนิยายได้อย่างเต็มที่ ตัวหนังนั้นทำเหมือนกับค่อยๆ ถึงอพาร์ตเมนท์ เดอะ โคฟ ให้ค่อยๆ รู้สึกเหมือนกับเข้าสู่โลกนิทานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กับความรู้สึกคนดูกลับยังไม่ค่อยคล้อยตามเท่าไหร่ ซึ่งถ้าพูดถึงหนังที่ดึงคนดูให้จมได้เจ๋งๆ ของแกก็ยกให้ Signs ล่ะครับ ดูมันกดดันและสมจริง แต่กับ Lady ต้องขอบอกว่ายังดึงไม่แรงพอ เลยยังลอยคอดำผุดดำว่ายหน่อยๆ อารมณ์ตอนท้ายเลยไม่ไปตามอารมณ์หนังเท่าไหร่
และจุดอ่อนที่ใหญ่มากอันหนึ่งก็มาจากพี่มาโนชนี่แหละ ใช่ครับ นอกจากแกกำกับได้ยังไม่กลมกล่อมเต็มร้อยแล้ว แกยังอุตส่าห์เพิ่มช่วงโหว่ให้หนังโดยการที่แกลงไปเล่นเองนี่แหละ
จริงๆ ผมเข้าใจนะ เขาจงใจเขียนบท วิค เพื่อตัวเขาเองโดยเฉพาะ ดูก็รู้ครับ นักเขียนผู้สามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น เหมือนจะสื่อถึงตัวเขา แต่ทว่า พี่ก็พลาดเพราะพี่ไม่ใช่นักแสดงอาชีพอ้ะ และบทวิคเนี่ย มันต้องแสดงอารมณ์หลายแบบ ทั้งรู้สึกเซ็งเพราะเขียนไม่ออก รู้สึกดีเพราะมีอารมณ์เขียนแล้ว รู้สึกตะลึงเพราะงานเขียนตนมีผลต่อโลก รู้สึกกลัวกับอนาคต รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิด …
แต่พี่มาโนชแกแสดงอารมณ์อย่างเดียวคืออารมณ์เอ๋อครับ แมร่ง หน้าพี่แกตายด้านตลอดอ้ะ ตามบทแกต้องสลด แกต้องดีใจ แต่พี่แกเล่นโมโนโทนครับ โมโนแบบโคตรๆ อ้ะ ดูแล้วเลยโคตรหงุดหงิดเลย เพราะถ้าคัดคนเจ๋งๆ มาเล่นนะครับ บทนี้ส่งนะ ดีไม่ดีเข้าชิงรางวัลได้นะเอ้า
แต่ทำไงได้ครับ พี่แกลงมาเล่นเอง ผมว่าก็มีแววได้เข้าชิงเหมือนกัน .. รางวัลราซซี่ไงล่ะฮะ
ส่วนดารานั้น ผมว่าดีครับ แสดงได้เฉียบ Giamatti ไปได้สวยงามทีเดียว ท่าทางต่างๆ แทบไม่ต้องห่วง มืออาชีพ ได้ทั้งฮาทั้งชีวิตได้หมด สบายใจได้ ส่วน Howard ก็ดูสวยและดูเป็นนิมฟ์จริงๆ ท่าทางแววตาเมคอัพได้ดีครับ ในขณะที่ตัวละครสมทบก็เนียน สมบทบาทมาก แม้หน้าจะไม่คุ้นเอาซะเลยก็เถอะ แต่หายห่วงครับ … ยกเว้นพี่มาโนชนะ
เฮ่อออออออออ นี่แหละน้อ จะเอาอะไรให้มันโดนใจเราหมดล่ะเน้อะ อย่างงี้แหละครับมีสมหวังบ้างผิดหวังบ้าง กับ Lady ก็นี่แหละที่ผมรู้สึกครับ ทั้งชอบและไม่ชอบ ชอบแนวคิดที่หนังพยายามบอก แต่เฉยๆ กับเรื่องราวและหน้าหนังที่ยังไม่ลงล็อค
ทีนี้ก็แล้วแต่ท่านล่ะนะครับ ว่าจะลองมั้ย คือถ้าท่านเห็นว่า ผลงานของพี่มาโนชแกไม่น่าสนใจอีกแล้วหลังจาก The Sixth Sense หรือท่านอยากดูหนังระทึก น่ากลัว หรือแนวแฟนตาซีเต็มๆ ก็อาจจะไม่เต็มร้อยนะ หรืออยากดูเพื่อความบันเทิง ผมก็ไม่แนนะนำครับ จริงๆ รอดูแผ่นก็ได้ครับ
แล้วหนังเหมาะกับใครบ้าง … ผมว่าเหมาะกับคนที่ชอบหนังพี่มาโนชและชอบอะไรที่แฝงๆ ในหนังแก ผมแนะนำว่าให้ไปลองครับ
แม้จะชอบสาระ แต่หน้าหนังยังไม่ลื่น ดังนั้นโดยสรุปถ้ามีเวลานะครับอย่าคาดหวังน่ะก็ดูได้
ผมไม่ถึงกับชอบ หนังไม่ถึงกับสนุก แต่ก็น่าสนใจน่ะ
สองดาวครับ
(6/10)
หมวดหมู่:รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Drama, Fantasy, Mystery, Thrillers