กลับมาหนนี้ถือว่าเข้าเป้าและเวิร์กมากๆ เลยล่ะครับ พูดได้เต็มปากว่าผมชอบแบบที่เคยชอบ Spider-Man 2 ภาคแรก (อาจจะชอบในคนละแบบ แต่หากสรุปคะแนนในใจก็คือชอบไม่น้อยไปกว่ากัน) ถือเป็นการรีบูทใหม่ที่ประสบความสำเร็จเลยล่ะครับ เพราะหนังดูสนุก เพลิน ลงตัวในแบบของมัน
ถ้าให้นิยามล่ะก็ ผมถือว่าฉบับนี้สามารถรวมเอาของดีของ Spider-Man ชุด Sam Raimi เข้ากับภาค Amazing ได้ มันมีทั้งความติดดินและความทะเยอทะยานผสมผสานเข้าด้วยกัน แล้วก็กลั้วด้วยความสนุก ความมันส์ และอารมณ์ขันที่หยอดมาทั้งเรื่อง (แต่ไม่ล้น)
ฉบับนี้ลดความดราม่าและชีวิตรันทดแบบผู้ใหญ่ลง แล้วนำเสนอด้วยสไตล์ Coming of Age ซึ่งทำออกมาดีเลยล่ะครับ เนื้อหาหลักในภาคนี้ก็คือการผจญภัยของ ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (Tom Holland) กับการเรียนรู้วิถีของฮีโร่ที่มาพร้อมความรับผิดชอบในระดับที่มากเกินกว่าที่เขาจะคาดคิด
ผมชอบที่ปีเตอร์มาพร้อมคาแรคเตอร์แบบที่เด็กวัยรุ่นแทบทุกคนเคยเป็นกันมาแล้ว คือเต็มไปด้วยคิดว่า “เราเก่งนะ เราแน่นะ เราพร้อมรับมือได้ทุกเรื่องแหละน่า” ชอบคิดว่าเรารู้ดีหมดทุกสิ่งในจักรวาล และไม่ค่อยชอบเท่าไรหากใครมาบอกว่าเรายังเด็กอยู่
ผมก็เคยเป็นแบบนั้นครับ เราผยอง เราคิดว่าทั้งโลกอยู่ในมือ เราคิดว่าเราทำได้ทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้วของแบบนี้มันต้องใช้เวลา เราต้องยอมเปิดใจรับว่าเรายังเด็กจริงๆ แหละ เราไม่ได้รู้ทุกสิ่งในโลกขนาดนั้น… สิ่งที่เรารู้บางอันก็อาจเป็นเพียง “สิ่งที่เราคิดว่ารู้” หาใช่ความรู้แท้ๆ ไม่
หากเราอยากโตขึ้นจริงๆ ล่ะก็ เราต้องยอมให้ผู้คนและยอมให้ประสบการณ์สอนเรา เราต้องกล้าเผชิญ กล้าทำกล้ารับ เราต้องเรียนรู้อีกมากมายกว่าที่เราจะตระหนักได้ถึงความรับผิดชอบและความจริงแท้ของชีวิต… บางครั้งการรู้ว่าเราเองยังไม่รู้อะไรมากนัก อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
เด็กที่เจอประสบการณ์อันเข้มข้น และสามารถเรียนรู้จากมันได้เร็ว เขาก็จะโตขึ้นได้เร็ว แต่หากเราเลือกที่จะหลีกลี้หนีจากมัน ก็เท่ากับเราผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมให้อาจารย์สายตรงของวิชาชีวิตมาสอนวิชาที่ควรรู้ให้ และแบบนั้นก็ยากครับที่เราจะโตได้จริงๆ แบบสมแก่วุฒิภาวะ
และ Spider-Man: Homecoming ก็เอาประเด็นนั้นมาเล่าได้ดีครับ อาจไม่ถึงกับสุดยอดจัดๆ แต่ก็พูดได้เต็มปากว่า “ดีมาก” มันทำให้เรารู้จักปีเตอร์ ปาร์กเกอร์คนใหม่ได้อย่างดี และทำให้เราอยากเอาใจช่วยให้เขามีอนาคตที่ดี อยู่รอดปลอดภัย ว่าง่ายๆ คือหนังสามารถเริ่มถักทอสายใยดีๆ ระหว่างสไปดี้กับผู้ชมได้ในระดับหนึ่งเลยล่ะครับ
Tom Holland ผ่านฉลุยกับบทสไปดี้ในแบบของเขาเอง เขาคือวัยรุ่นที่ฮอร์โมนกำลังทำงาน กำลังกระหายที่จะพิสูจน์ว่าตนเป็นคนที่มีค่าและมีความสามารถ แต่แม้เขาจะมีพลังพิเศษเหนือใครก็เถอะ เขาก็ยังเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่อยู่บนทางแพร่ง เขาอาจเลือกเดินทางสายง่ายเพื่อประโยชน์ของตน (แบบที่วัลเจอร์เลือก) หรือจะเลือกเส้นทางสายยากในการเอาพลังที่มีไปใช้ประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ ในสังคม (แต่อาจต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด ความลำบาก และเงืินทองในกระเป๋าที่ไม่ได้มีมากมาย)
โดยบริบทแล้วภาคนี้เหมือนเป็นการรับน้องสไปเดอร์แมนครับ โดยพี่เลี้ยงอย่างโทนี่ สตาร์กก็เป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่ดูอยู่ห่างๆ และทดสอบความ “ใจ” ของเด็กน้อยคนนี้ อยากรู้ว่าหมอนี่เป็นเพชรแท้หรือไม่ ถือเป็นการเปิดตัวสไปดี้คนใหม่และเป็นการเชื่อมเรื่องนำพาให้สไปดี้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว Marvel Universe ได้อย่างเหมาะเหม็ง
ผมชอบที่หนังหยอดฉากเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความหมายลงมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะฉากตอนสไปดี้ช่วยคุณลุงร้านชำที่เขารู้จัก หรือความสัมพันธ์ระหว่างเขากับป้าเมย์ที่ว่ากันจริงๆ แล้วปริมาณป้าเมย์ในเรื่องถือว่ามีน้อยครับ แต่มันไม่ได้น้อยจนน่าเกลียด เพราะอย่างน้อยหนังก็ให้พื้นที่ป้าเมย์ได้เยียวยาจิตใจหลานในเวลาที่เขาเหนื่อยอ่อน หรือฉากที่ป้าช่วยเตรียมชุดในวันงานเต้นรำ ผมว่าฉากนี้สื่ออารมณ์น่ารักระหว่างป้าๆ หลานๆ ได้พอเหมาะ
Marisa Tomei เป็นป้าเมย์ได้ดีครับ เพียงแต่บทอาจไม่เยอะเท่านั้นแหละ แต่ก็พอเข้าใจน่ะครับ เรื่องของปีเตอร์ในฉบับนี้ยังเป็นเรื่องวัยเรียน ศูนย์กลางส่วนใหญ่ของเรื่องจึงมักจะอยู่กับตัวปีเตอร์เองหรือไม่ก็ผองเพื่อน ซึ่งจะต่างจากฉบับ Raimi ที่ปีเตอร์เป็นวัยทำงานแล้ว
พอนึกถึงจุดนี้ก็รู้สึกน่ะนะครับว่าป้าเมย์ฉบับ Raimi กับป้าเมย์ฉบับใหม่มีการเลือกดาราที่เหมาะกับคาแรคเตอร์มากๆ อย่าง Rosemary Harris ผู้รับบทป้าเมย์ฉบับเก่าจะดูน่ารัก อ่อนโยน ทำให้คนดูรู้สึกเห็นใจและอยากจะปกป้อง ในขณะที่ Tomei เป็นป้าเมย์สู้ชีวิต ดูทะมัดทะแมง และดูแลตัวเองได้ ผมว่ามันเป็นคาแรคเตอร์ที่เหมาะกับทิศทางของหนังน่ะครับ
ที่เวิร์กกว่าที่คิดคือบทของเน็ด (Jacob Batalon) เพื่อนซี้ของปีเตอร์ที่ผมก็แอบกลัวนะว่าบทนี้จะจิดไหม ปรากฏว่าพี่แกเป็นลูกคู่ที่ทำหน้าที่ได้น่าจดจำมากๆ อาจมีแอบรำคาญนิดๆ ในฉากโทรจิกปีเตอร์ แต่นอกนั้นถือเป็นคู่หูคู่ฮาที่เสริมรสชาติให้กับหนังได้อย่างดี (โดยเฉพาะประโยคที่เขาพูดกับอาจารย์ในห้องคอม… มันอาจเป็นประโยคธรรมดานะ แต่ผมฮา 555)
Michael Keaton ก็เหมาะกับบทวัลเจอร์มากๆ พี่แกดูเท่ห์ ฉลาด เด็ดขาด ร้ายกาจ แต่ไม่ใช่ร้ายแบบไร้มิติน่ะครับ พี่แกดูมีความลึก มีแรงจูงใจ ถือว่าเป็นตัวร้ายของหนัง Marvel ที่ดีมากตัวหนึ่งในแง่ของคาแรคเตอร์ แต่อาจยังไม่เด่นแบบเต็มที่ในแง่ฉากบู๊ (และการให้เสียงพากย์โดยคุณจักรกฤษณ์ก็เสริมความเด็ดให้ตัวละครนี้มากขึ้นไปอีก)
พอพูดถึงฉากบู๊ก็ถือว่าหนังทำได้โอเคครับ หลายฉากจัดว่าเร้าใจ ฉากที่ผมชอบสุดก็ยกให้ฉากสไปดี้ช่วยคนในลิฟต์ที่ เสาหินอนุสาวรีย์วอชิงตันน่ะครับ มันสนุกและลุ้นมากๆ ในขณะที่ฉากบู๊ระหว่างสไปดี้กับวัลเจอร์ ผมชอบฉากตีกันบนเรือครับ ในขณะที่ฉากตีกันตอนไคลแม็กซ์อาจยังไม่ถึงขั้นมันส์แบบเต็มๆ แต่ผมก็เข้าใจนะ เหตุผลที่ Marvel ชอบกั๊กฉากบู๊ไว้ ผมว่าเตรียมไปปล่อยเต็มๆ ใน Infinity War
ส่วนบทโทนี่ (Robert Downey Jr.) ก็ถือเป็นส่วนเสริมที่ดีครับ ผมชอบที่หนังไม่พยายามใส่บทของโทนี่ลงมามากเกินไป เพราะนี่มันหนังสไปดี้น่ะครับ แม้ไอรอนแมนจะดังกว่าก็เถอะ แต่ถ้าเยอะเกินหนังเสียกระบวนแน่นอน ส่วนแฮปปี้ โฮแกน (Jon Favreau) ก็มาเสริมทีมฮาครับ
และคนที่เด่นแบบคาดไม่ถึงอีกคนก็คือ “เสียงชุดของสไปดี้” ครับ เป็นเหมือนจาร์วิสแต่เป็นผู้หญิง ซึ่งบทนี้สามารถเสริมซีนอารมณ์ให้กับหนังได้ดีเกินคาด ทั้งอารมณ์พี่เลี้ยงสไปดี้ และอารมณ์ขัน (ฮาแรงมากตอน “จูบเลย” ฮาจริงอะไรจริง) ซึ่งให้เสียงโดย Jennifer Connelly (ที่เป็นภรรยาในชีวิตจริงของ Paul Bettany ผู้ให้เสียงจาร์วิส)
ผู้กำกับ Jon Watts คุมหนังได้ดี ซึ่งถ้ามองในแง่ลูกเล่นแล้ว มันอาจยังไม่เยอะน่ะนะครับ แต่ก็ยังดูเพลินอยู่ และผมชอบที่หนังไม่พยายามยัดเยียดประโยคเท่ห์ๆ ลงไปแบบ “อำนาจที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบ ฯลฯ” หรือ “ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือความรับผิดชอบ” โดยหนังเลือกจะนำเสนอนิยามเรื่องความรับผิดชอบทั้งหมดผ่านกระกระทำของปีเตอร์ ให้เราเห็นชัดๆ ไม่ต้องปั้นประดิษฐ์วลี อย่างฉากโดนทับแล้วเขาต้องช่วยเหลือตนเองน่ะครับ เป็นฉากที่บอกอะไรได้ชัดมากๆ โดนไร้คำพูดเลย จุดนี้ถือว่าน่าชื่นชมครับ
และที่ลืมไม่ได้คือดนตรีโดย Michael Giacchino ถือเป็นของดีแบบแท้จริงเลยครับ หลังจากพี่แกทำให้ Doctor Strange มาพร้อมกลิ่นอายตะวันออกและบรรยากาศต่างมิติแล้ว มาเรื่องนี้พี่เขาขุดเอาลีลาทำนองแบบหนังฮีโร่ยุค 90 มาบูชาคารวะ ฟังแล้วนึกถึง Batman (1989), Dick Tracy (1990) แล้วก็ Darkman (1990) (ซึ่งทั้ง 3 เรื่องทำดนตรีโดย Danny Elfman ครับ)
ท่วงทำนองดนตรีของ Giacchino ในเรื่องโดดเด่นด้วยพลังเครื่องตีและเครื่องเป่า เขาใช้มันเป็นทั้งเครื่องเร้าและเครื่องเลี้ยว (ทางอารมณ์) แล้วบวกด้วยความอลังการ “แกรนด์ๆ” แบบ John Williams ในบางวาระ ทั้งหมดทั้งมวลช่วยเสริมรสให้หนังได้อย่างดีจริงๆ ครับ (และอยากบอกว่า “ชอบมาก” สำหรับธีมเดิมของ Spider-Man ที่บรรเลงในอารมณ์วงโยฯ เจ๋งจริง!)
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมชอบในโลกของสไปดี้ภาคใหม่ก็คือ มันแอบเป็นหนัง Feel Good อยู่ในทีครับ แม้หนังจะไม่ได้มีฉาก “ชาวเมืองรวมพลังช่วยสไปเดอร์แมน” แบบที่ผ่านๆ มา แต่หนังเลือกที่จะนำเสนอให้เราสัมผัสได้ว่าสังคมในโลกของสไปดี้ฉบับนี้ ไม่มีใครชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนเหมือนจะมีเมล็ดพันธุ์ความดีบางอย่างแฝงอยู่ภายใน ส่วนใหญ่จะไม่ได้ดี-ร้ายแบบโมโนโทน
ระหว่างดูผมดีใจนะ… ดีใจที่ปีเตอร์ไม่โดดเดี่ยวเพราะเขามีเพื่อนที่ดี มีป้าที่ดี มีโทนี่ สตาร์ก หรือกระทั่งคนอื่นๆ ในสังคมของปีเตอร์ก็มีคนดีๆ อยู่ ไม่ว่าจะคุณลุงขายของชำที่เตือนปีเตอร์ด้วยความเป็นห่วงเกี่ยวกับอนาคตของเขา, ตัวละครแอรอน เดวิส (Donald Glover) หรือกระทั่งเสียงในชุดสไปดี้ก็ยังเป็นเพื่อนอีกคนของเขา…
มันทำให้รู้สึกว่า แม้ชีวิตจากนี้ของสไปดี้จะรันทดก็เถอะ แต่เขาจะยังมีใครสักคนคอยเคียงข้าง… มันกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของคำว่า “ใครสักคน” อย่างยิ่งครับ
… ทุกวันนี้คนดูเหมือนจะต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น… เหมือนหนังสไปดี้ภาคนี้จะส่งสารสาระกระตุ้นให้เราฉุกคิดถึงความสำคัญของ “การทำดีต่อกัน”
… แทนที่เราจะรวมพลังกันช่วยสไปดี้ (หรือฮีโร่ในสังคม) แบบเฉพาะกิจนานๆ ที หรือช่วยเฉพาะในงานใหญ่ๆ แต่เพียงอย่างเดียว… มันคงจะดีกว่าหากทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือ ในทุกวันที่ยังมีลมหายใจ ทำไปคนละนิดละหน่อยไปเรื่อยๆ… สไปเดอร์แมนจะเหนื่อยน้อยลง
… ชุมชน สังคม และประเทศชาติ… จะเหนื่อยน้อยลง
สรุปเลยครับว่าสไปดี้ได้เกิดเต็มตัวอีกครั้ง ตั้งหลักได้ดี มีทิศทางที่ถือว่าสดพอประมาณสำหรับเส้นเรื่องของสไปดี้ แต่ก็ต้องภาวนาล่ะครับว่าสตูดิโอจะไม่ทำให้เสียกระบวนอีก หวังว่าจะไม่พยายามจัดกระทำให้หนังจงใจ “ขายของ” จนละเลยหัวใจสำคัญที่หนังอุตส่าห์ปูมาตั้งขนาดนี้
ใกล้สามดาวครับ
(7.5/10)
หมวดหมู่:Action, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, หนังแนะนำ Recommended, Comedy, Superheroes