Action

Star Trek VI: The Undiscovered Country (1991) ศึกรบสยบอวกาศ อวสานสตาร์ เทร็ค

1368009862

รีวิวชิ้นนี้มีสปอยล์แทรกอยู่เป็นระยะๆ นะครับ หากไม่อยากทราบแนะนำให้อ่านบรรทัดสุดท้ายตรงที่ผมให้ดาวเลยครับ เชื่อว่าบรรทัดนั้นน่าจะสรุปให้ทุกท่านตัดสินใจได้ ว่าหนังเรื่องนี้น่าดูหรือไม่ ^^

ในบรรดาหนังชุด Star Trek ภาคที่ทุกคนชมว่าเด็ดสุดคงหนีไม้พ้นภาค 2 The Wrath of Khan แต่สำหรับผมแล้วภาคที่โปรดปรานที่สุดมีอยู่ 2 ตอน ได้แก่ ภาคนี้และภาครีเมคปี 2009 (ส่วนภาคใหม่ Into Darkness ยังไม่ได้ดูเลยยังตอบไม่ได้นะครับ)

ทำไมผมถึงชอบภาคนี้มากน่ะหรือครับ… คงเพราะมันโดนในหลายส่วน อย่างแรกคือนี่เป็นภาคสุดท้ายของเรื่องราวลูกเรือเอ็นเตอร์ไพรส์ดั้งเดิม ที่นำโดยกัปตันเคิร์ก (William Shatner), สป็อก (Leonard Nimoy), หมอแม็คคอย (DeForest Kelley), ซูลู (George Takei), เชคอฟ (Walter Koenig), อูฮูร่า (Nichelle Nichols) และ สก็อตตี้ (James Doohan) ที่ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้กลิ่นอายของ “การเดินทางร่วมกันเที่ยวสุดท้าย” ให้สัมผัสเป็นระยะ และพอฉากสุดท้ายมาถึงคนที่ติดตามหนังชุดนี้มาตลอดอย่างผม มันก็ให้รู้สึกจุกเล็กๆ ที่อก… “เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ หรือนี่” คือประโยคที่วิ่งวนอยู่ในหัวผมตลอดยาม End Credits มาถึง

อย่างต่อมาคือหนังมาพร้อมเนื้อหาเข้มข้น มีครบหมดทุกแนวครับทั้งความเป็นไซไฟท่องอวกาศ, แอ็กชันต่อสู้กัน, สืบสวนหาคนทำผิดเพื่อยับยั้งแผนร้ายระดับจักรวาล และยังมีประเด็นการเมืองมากมายจนสัมผัสได้ว่าภาคนี้บทแน่นมาก มีสาระชวนคิดหลากมุมหลายประเด็นจริงๆ และที่ขาดไม่ได้คืออารมณ์ขันที่แต่ละคนมีมุขของตัวเองทั้งสิ้น

และอย่างสุดท้ายคือรสชาติความสนุกครับ หนังจัดว่าสนุกมาก มีลุ้นมีความตื่นเต้น มีปมให้ติดตาม แต่ถ้าให้ว่ากันจริงๆ แล้ว หนังอาจยังไม่ลงตัวเต็มที่ถึงระดับภาค The Wrath of Khan หรือภาครีเมค แต่กระนั้นหนังก็ทดแทนจุดพร่องบางประการด้วยพลังดาราและพลังด้านเนื้อหานี่แหละครับ

เรื่อง ราวในภาคนี้เปิดฉากด้วยการระเบิดครั้งใหญ่ของดาวแพร็กซิส ดวงจันทร์อันเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของชาวคลิงออน แล้วก็พอดีที่ซูลูซึ่งตอนนี้เป็นกัปตันยานยูเอสเอส เอ็กเซลซิเออร์ได้ผ่านไปประสบเหตุพอดี ซูลูจึงรีบติดต่อไปยังดาวคลิงออนเพื่อเสนอความช่ีวยเหลือ แต่ทางคลิงออนกลับปฏิเสธและย้ำไม่ให้ชาวสหพันธ์เข้าไปยุ่งแทรกแซง

1368095958

จากนั้นหลายเดือนถัดมากัปตันเคิร์กกับหมอแม็คคอยก็ถูกสหพันธ์ตามตัวมาประชุม ครับ เป็นการประชุมที่มีสป็อกเป็นประธานและเป้าหมายในการประชุมครั้งนี้คือการให้ ความช่วยเหลือชาวคลิงออน เนื่องจากตอนนี้คลิงออนประสบปัญหาด้านพลังงานจนถึงขั้นวิกฤติ ส่งผลให้ประมุขกอร์คอน (David Warner) ผู้นำคลิงออนตัดสินใจเจรจาสงบศึกกับสหพันธ์

แน่ นอนครับว่าหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย บางคนก็แคลงใจในเจตนาของคลิงออนว่าจะมีแผนร้ายแอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง แม้แต่กัปตันเคิร์กเองก็ไม่เห็นด้วยเพราะเขาก็ยังไม่เคยลืมว่าพวกคลิงออนนี่ แหละที่ฆ่าเดวิด ลูกชายคนเดียวของเขาอย่างเลือดเย็น แต่แล้วสป็อกกลับเสนอชื่อให้เคิร์กเป็นตัวแทนแห่งสหพันธ์ไปเจรจากับคลิงออน

กัป ตันเคิร์กแม้จะไม่อยากรับหน้าที่นี้แค่ไหนแต่เมื่อเบื้องบนสั่งเขาจึงยอมนำ ยานเอ็นเตอร์ไพรส์ออกเดินทางไปยังเขตเป็นกลางเพื่อการเจรจา ซึ่งในตอนแรกบรรยากาศก็ดีล่ะครับ มีการเชิญพวกคลิงออนมาทานอาหารบนยานเอ็นเตอร์ไพรส์ แม้บนโต๊ะอาหารจะมีการค่อนแคะจิกกัดกันตลอดก็ตาม แต่อย่างน้อยการทานอาหารร่วมกันมื้อแรกระหว่างชาวโลกกับชาวคลิงออนก็ผ่านไป ด้วยดี

แต่ในกลางดึกคืนนั้นเองก็ได้เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อมีโฟตอนตอร์ปิโด 2 ลูกยิงเข้าใส่ยานโครนอส 1 ที่ท่านประมุขกอร์คอนพักอาศัยอยู่ ก่อนจะมีคนบุกไปลอบสังหารท่านประมุขจนถึงแก่ความตาย

เนื่องจากใน บริเวณนั้นไม่มียานใดๆ เลยนอกจากเอ็นเตอร์ไพรส์และโครนอส 1 ทำให้ยานเอ็นเตอร์ไพรส์ตกเป็นผู้ต้องหาอย่างไม่มีทางเลี่ยง และเคิร์กกับหมอแม็คคอยก็ถูกนำตัวไปขึ้นศาลของคลิงออน ก่อนจะถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิตที่เรือนจำรูล่าร์ เพนเต้ เรือนจำที่ได้ชื่อว่าโหดที่สุดจักรวาล… ไม่ตายก็เหมือนตายน่ะครับ ว่างั้นเถอะ

เนื้อเรื่องถัดจากนี้ก็ขอให้ไปติดตามกันดูนะครับ บอกได้แค่ว่ามันมีความซับซ้อนรอเราอีกพอสมควรครับ

1368095903

ไอเดียภาคนี้นับว่าเข้มข้นมากครับ และคนที่เป็นผู้เริ่มไอเดียก็คือ Nimoy นี่แหละครับ แต่ก่อนจะมาถึงตรงนั้นก็ขอเล่าย้อนหลังไปอีกสักหน่อยนะครับ

แรกเริ่มเดิมทีภาคนี้จะอำนวยการสร้างโดย Harve Bennett เจ้าเก่าจาก 4 ภาคก่อน โดยครั้งนี้เขามีไอเดียที่จะทำภาคก่อนหน้า (Prequel) เนื่องในครบรอบ 25 ปีของ Star Trek โดยบทร่างเบื้องต้นจะออกแนวประมาณ Top Gun ภาค อวกาศน่ะครับ ว่าด้วยการพบกันครั้งแรกที่สถาบันสตาร์ฟลีทของเคิร์ก, สป็อก และหมอแม็คคอย โดยจะมีวายร้ายประจำตอนและจะมีปมปริศนาเกี่ยวกับพ่อของเคิร์กด้วยครับ ประมาณว่าจอร์จ พ่อของเคิร์กได้หายตัวไปอย่างลึกลับขณะทำการทดลองวอร์ฟ โดยสก็อตตี้ก็อยู่ร่วมการทดลองครั้งนั้นด้วย นอกจากนี้ยังมีบทของนางพยาบาลชาเปลโผล่มาในตอนท้ายอีกด้วย และมีการวางตัวว่าจะให้ Ethan Hawke มารับบทเคิร์ก และ John Cusack มารับบทเป็นสป็อก

แต่ปรากฏว่าโต้โผ Paramount อย่าง Frank Mancuso ไม่พอใจกับบทเรื่องนี้เลยครับ เพราะใจจริงน่ะเขาอยากให้เหล่านักแสดงชุดเดิมกลับมาเล่นอีกสักภาค เขายังไม่ต้องการภาค Prequel ในตอนนี้ Mancuso ถึงกับเสนอเงิน 1.5 ล้านเหรียญให้ Bennett เพื่อให้เขายอมเขียนบทใหม่ที่ใช้เหล่านักแสดงทีมเดิม แต่ไม่ว่าจะยังไง Bennett ก็ยืนกรานว่าจะทำภาค Prequel เท่านั้น ทำให้บทบาทอำนวยการสร้างของ Bennett สิ้นสุดลงตรงนั้น

ต่อมา Walter Koenig เจ้าของบทเชคอฟก็ได้ลองเขียนบทส่งไปให้ Mancuso อ่าน โดยบทนี้ใช้ชื่อว่า In Flanders Fields เนื้อเรื่องว่าด้วยมหาสงครามอวกาศ เมื่อเหล่าคลิงออนเริ่มฮึกเหิมจนทำให้ชาวโรมูลันและสหพันธ์ดวงดาวต้องร่วม มือกันรบกับพวกคลิงออน โดยที่ลูกยานเอ็นเตอร์ไพรส์ชุดเดิมนั้นถูกปลดประจำการเนื่องจากร่างกายไม่ ผ่านการทดสอบครับ มีเพียงสป็อกคนเดียวที่ผ่าน ทำให้สป็อกและลูกยานชุดใหม่ต้องนำยานไปรบ โดยครั้งนี้ได้มีศัตรูพันธุ์ใหม่เป็นเอเลี่ยนรูปร่างคล้ายหนอน (Koenig อธิบายว่าเจ้าเอเลี่ยนพันธุ์นี้คือสายพันธุ์เดียวกับในหนัง Alien น่ะครับ) และจากการเผชิญหน้าส่งผลให้สป็อกตกอยู่ในอันตราย ทำให้เคิร์กและพรรคพวกตัดสินใจนำยานออกไปช่วย และผลสุดท้ายก็คือ ลูกยานเอ็นเตอร์ไพรส์ทีมเดิมได้สละชีพกันเกือบหมด ยกเว้นสป็อกและหมอแม็คคอย… และบทนี้ก็ไม่ผ่านอีกครับ

ถัดมา Nimoy เสนอให้เอาลูกยานทีมเดิมมาเจอกับลูกยานจาก The Next Generation ที่นำโดยฌอง ลุค พิคาร์ด แต่ปรากฏว่าผู้สร้างชุด TNG ยังไม่พร้อม ในที่สุด Nicholas Meyer ผู้กำกับจากภาค 2 ก็ได้รับการติดต่อจาก Paramount ครับ ทางนั้นสอบถามว่าเขามีไอเดียน่าสนใจสำหรับภาค 6 ของ Star Trek ไหม Meyer ก็ตอบแบบเต็มปากเต็มคำว่า “ไม่มีเลย

แล้วทุกอย่างก็ดูเหมือนจะตันครับ จน Nimoy ตัดสินใจนัด Meyer ไปเดินเล่นแถบชายหาดแถวบ้านของ Meyer จะได้่แลกเปลี่ยนความคิด โดยก่อนหน้านั้น Nimoy ก็นึกถึงอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ จากเค้าโครงบทของ Koenig ที่พูดถึงการทำสงครามระหว่างโลกกับคลิงออน เขสก็คิดขึ้นมาได้ จะว่าไปชาวโลกกับคลิงออนก็คล้ายกับอเมริกากับรัสเซีย ที่มีวิถีแตกต่าง มีสงครามเย็นรักษาฐานอำนาจของกันและกันมานาน แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป วิถีที่เป็นคู่ขนานของสองโลกก็เริ่มเบนเข้ามาใกล้กัน จากเดิมที่ไม่เคยติดต่อฉันท์มิตรก็เริ่มคุยเรื่องธุรกิจการค้าต่อกัน เกิดการปรับตัวเป็นถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อความอยู่รอด และในยุค 90 นั้นไม่เพียงแต่อเมริกากับรัสเซียเท่านั้นที่เริ่มหันหน้าเข้าหากัน แม้แต่กำแพงเบอร์ลินที่แบ่งแยกะเยอรมันออกเป็นตะวันออกและตะวันตกก็ยังถูก ทำลายลงในยุค 90 นี่เอง

1368095999

หรือเราจะทำพล็อตประมาณ ทลายกำแพงในอวกาศดี… จริง พวกคลิงออนก็เปรียบได้กับรัสเซียอยู่แล้วนี่Nimoy เสนอขึ้น เท่านั้นล่ะครับไอเดียของ Meyer ก็พุ่งตามทันที เขาเริ่มระลึกถึงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น เมื่อโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลระเบิดในปี 1986 จนก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ในรัสเซีย แม้ในตอนแรก ท่านมิฮาอิล กอร์บาชอฟจะออกมาให้ข่าวว่าเหตุการณ์ไม่ร้ายแรง รัสเซียยังคุมสถานการณ์ได้

แต่ ในเวลาต่อมาท่านกอร์บาชอฟเองก็เป็นฝ่ายตัดสินใจเจรจากับชาติตะวันตก แล้วความจริงก็เปิดเผยว่าสถานการณ์ที่เชอร์โนบิลนั้นรุนแรงมาก ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั้งในเรื่องทรัพยากรและความเป็นอยู่ เพราะทางการต้องใช้จ่ายเงินเพื่อฟื้นฟูไปกว่า 18,000 ล้านเหรียญ จนระบบเศรษฐกิจแทบจะพังทลาย อันนำมาสู่ช่วงที่ข้าวยากหมากแพงที่สุดของชนชาวรัสเซีย

ดังนั้นเราก็จะเห็นว่าโครงเรื่องของ Star Trek ภาคนี้ก็อิงจากเหตุการณ์จริงเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเหตุระเบิดที่ดวงจันทร์แพร็กซิส อันเป็นแหล่งพลังงานของคลิงออน (มาจากเหตุระเบิดเชอร์โนบิล ที่เป็นโรงไฟฟ้าสำคัญของรัสเซีย) มีการปฏิเสธความช่วยเหลือ ก่อนประมุขกอร์คอนจะออกโรงขอเปิดเจรจา ซึ่งตัวประมุขกอร์คอนนั้นก็คือตัวท่านกอร์บาชอฟนั่นเอง

แล้วบทสำหรับภาคนี้ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างครับ ด้วยการสร้างสรรค์ของ Meyer และ Denny Martin Flinn เพื่อนของเขาที่อยู่ในลอสแองเจลิส ส่วน Meyer อยู่ยุโรป ทำให้ทั้งคู่ทำงานโดยการเขียนบทส่งถึงกันผ่าน E-Mail ซึ่งในบทร่างแรกๆ นั้นจะต้องใช้ทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญ เพราะมันจะมีฉากสงครามที่ยิ่งใหญ่ มีเอเลี่ยนพันธุ์ใหม่มาลงจอ อีกทั้งจะมีการเล่าว่าหลังจากที่ลูกยานเอ็นเตอร์ไพรส์เกษียณแล้ว แต่ละคนไปทำอะไรกันบ้าง เช่น เคิร์กได้แต่งงานกับดร. แครอล มาร์คัส (ที่เคยปรากฏตัวมาแล้วในตอน The Wrath of Khan), สป็อกไปเล่นละครแฮมเล็ต, ซูลูไปขับรถแท็กซ๊่, สก็อตตี้ไปสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์, อูฮูร่าไปจัดรายการวิทยุ, เชคอฟก็ชอบเล่นหมากรุกเป็นงานอดิเรก ส่วนคุณหมอแม็คคอยก็ทำงานต่อไปในวงการแพทย์

แต่เนื่องจากความล้มเหลว ในภาคก่อน ทำให้ Paramount แทงเรื่องลงมา ว่าให้ได้อย่างมากคือเท่ากับทุนสร้างในภาคที่แล้วเท่านั้น ทำให้พล็อตหลายส่วนต้องถูกตัดออก

และในตอนแรก Meyer อยากแค่เขียนบทอย่างเดียวไม่ต้องการกำกับ ทำให้หน้าที่กำกับอาจต้องตกเป็นของ Nimoy แต่ Nimoy ตระหนักดีว่าหากเขานั่งเก้าอี้กำกับเป็นครั้งที่ 3 ในขณะที่ William Shatner เพิ่งกำกับภาคที่แล้วเป็นครั้งแรก แล้วลงเอยด้วยความล้มเหลว เรื่องนี้จะต้องทำให้ Shatner ไม่พอใจแน่นอน Nimoy เลยอยากให้ Meyer รับหน้าที่กำกับ เขาลังเลในตอนแรกแต่ในเวลาต่อมาก็ยอม

ว่ากันว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Meyer ยอมกำกับก็คือ ตอนที่เมียเขาเดินมาบอกว่า “ที่รัก ฉันว่าคุณควรเป็นคนกำกับหนังเรื่องนี้นะ

1368096050

แล้วบทหนังก็สำเร็จออกมาครับ ภายใต้งบ 27 ล้านที่ Paramount ให้ โดยตัดเอาฉากไม่จำเป็นทิ้ง ลดขนาดสงครามอวกาศลงให้เหลือเพียงประเด็นหลักๆ อย่างการที่คลิงออนต้องการสงบศึก แต่ก็มีคลื่นใต้น้ำเกิดขึ้น มีคนวางแผนลอบสังหารท่านประมุขกอร์คอน ซึ่งก็เป็นไปตามความตั้งใจของ Meyer ที่พอไม่สามารถเนรมิตฉากสงครามอลังการได้ อย่างน้อยคงความเข้มข้นในเรื่องบทเอาไว้ก็น่าจะยังโอเคอยู่

แล้ว Meyer ก็เอาบทไปให้ Gene Roddenberry ผู้ให้กำเนิด Star Trek ได้ลองอ่าน ซึ่งตอนนั้นเขากำลังป่วยหนักครับ และพออ่านบทคร่าวๆ Roddenberry ก็ประกาศออกมาเลยว่าเขาเกลียดบทนี้มาก ว่ากันว่าเขาระเบิดอารมณ์จน Meyer หลบออกจากห้องแทบไม่ทัน

สาเหตุหลักๆ ที่ Roddenberry ไม่พอใจก็เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องการเมือง มีการวางแผนร้าย ซ้ำยังมีการหักหลังทรยศ ซึ่งมันขัดกับมุมมองของ Roddenberry ที่มีต่อโลกอนาคตว่ามันจะต้องสวยงาม คนจะต้องมีจิตใจที่ดีขึ้น รู้จักแบ่งปันไม่ใช่แก่งแย่งกัน มิหนำซ้ำในบทฉบับนั้นยังนำเอาตัวละคร ซาวิค วัลแคนสาวจากภาค 2 กลับมา แล้วบทก็กำหนดให้เธอทรยศหักหลัง ซึ่งเป็นอะไรที่ Roddenberry รับไม่ได้ เพราะเขารู้สึกดีกับตัวละครนี้มากๆ

แต่ Meyer ก็มองว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจิตใจคนจะมีทั้งดีร้าย มันไม่มีอะไรจะยืนยันได้เลยว่าพอถึงศตวรรษที่ 23 แล้วมนุษย์โลกจะมีจิตใจที่ดีไปเสียทั้งหมด

หลังผ่านพ้นวันแรก (ที่หลายคนขนานนามว่า “วันแห่งพายุกระหน่ำ” เพราะ Roddenberry แม้จะป่วยแต่ก็ออกอาการไม่พอใจรุนแรงมากๆ) Meyer ก็หาเวลากลับมาคุยกับ Roddenberry อีกครั้ง เพื่อพบกันครึ่งทางครับ นั่นคือพยายามเปลี่ยนบทเท่าที่ทำได้ เช่น การเอาตัวละครซาวิคออกไป แล้วใส่ตัวละครที่ชื่อวาเลอรี่ (Kim Cattrall) ซึ่งเป็นสาววัลแคนอีกคนลงไปแทน เพื่อลดความรู้สึกไม่ดีของ Roddenberry ลง แต่ระหว่างการพยายามแก้ไขก็พบว่าจุดที่ Roddenberry ไม่ชอบนั้นมีเยอะมาก จนไม่อาจแก้ได้ทั้งหมด และด้วยเวลาที่กระชั้นทำให้ Meyer แก้ไขได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะต้องรีบดำเนินการถ่ายทำให้ตรงตามกำหนด

แล้วเดินเครื่องถ่ายทำครับ พอเสร็จเรียบร้อยทางทีมงานตัดสินใจฉายมันให้ Roddenberry ดูก่อนใคร และเมื่อหนังฉายจบ เขาก็บอกว่า “ก็สนุกดีนะ” จากนั้น 2 วันเขาก็เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวครับ หนังเรื่องนี้จึงอุทิศให้กับ Roddenberry ผู้สร้างสรรค์และให้กำเนิดเรื่องราวอันยิ่งใหญ่นี้

ความ สำเร็จของหนังภาคนี้ก็ถือว่าน่าพอใจครับ ลงทุนไป 30 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาไป $74.8 ล้าน หากรวมทั่วโลกก็เป็น $94 ล้าน ไหนจะรายได้ตอนออกเป็นวีดีโออีกกว่า $60 ล้านนั่นก็ทำให้ Star Trek ภาคนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และที่สำคัญคือได้รับคำชื่นชมในแง่บวกไม่แพ้ภาค 4 เลยทีเดียว

ตัวหนังครบเครื่องในเรื่องความข้นครับ ด้านสาระก็จัดว่ามากจนอาจจะเรียกว่ามากที่สุดในบรรดา Star Trek ทั้งหมด เพราะมันเหมือนเป็นการเอาสถานการณ์โลกในยุคนั้นมาถ่ายทอดให้เราเห็นโดยใช้โลกแห่ง Star Trek เป็นเวที

ตัวละครที่ผมชอบที่สุดในภาคนี้คือใครรู้ไหมครับ… เขาคือท่านประมุขกอร์คอน ผู้นำแห่งคลิงออน

1368116046

เขาคือคนที่พยายามจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มองทุกอย่างออกครับ มองออกว่าทางสหพันธ์เองก็มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย กัปตันเคิร์กที่ถูกส่งมาเจรจาก็ดูชัดว่ายังรังเกียจชาวคลิงออนอยู่ แม้แต่ลูกน้องของท่านเองท่านก็ตระหนักว่ามีคลื่นใต้น้ำที่ไม่เห็นด้วยกับการ ตัดสินใจนี้เหมือนกัน

ผมชอบคำว่า “ดินแดนที่รอการค้นพบ” หรือ The Undiscovered Country ที่ท่านประมุขพูด (และเป็นที่มาของชื่อตอน) ซึ่งคำนี้สื่อถึงอนาคตของการเจรจานี้น่ะครับ เพราะเป้าหมายในการเจรจาก็เพื่อผสานดินแดนคลิงออนและโลกให้เป็นหนึ่งเดียว ลบกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างเผ่าพันธุ์ออกไป

จะว่าไปดินแดนในขณะนั้น (ในหนัง) ก็คือดินแดนแห่งการแก่งแย่ง แข่งขัน เข่นฆ่า ไล่ล่า และห้ำหั่น ซึ่งหลายสถานการณ์ได้พิสูจน์แล้วว่าดินแดนเหล่านั้นมันไม่ใช่ดินแดนที่น่า อยู่เลยแม้แต่น้อย

ดังนั้นในความคิดของท่านประมุขก็เลยอยากชวนชาวโลกอีกทั้งชาวดาวอื่นๆ ในสหพันธ์ให้มาคุยกัน เพื่อวางแผนช่วยกันหา “ดินแดนใหม่” ดินแดนที่แต่ละดวงดาวอาศัยร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งปันอารยธรรมต่อกัน สร้างเสริมความเข้าใจเพื่อลดช่องว่างและความต่างลง

นั่น เองคือดินแดนที่น่าอยู่ ดินแดนที่รอการค้นพบ เพราะในขณะนั้นแม้แต่ท่านประมุขเองก็ยังบอกไม่ได้ว่าทุกฝ่ายจะพากันไปยังดิน แดนนั้นได้อย่างไร ด้วยวิธีไหน ใครต้องทำอะไรบ้าง หรือใครต้อง “เลิก” ทำอะไรบ้าง

พิกัดแห่งดินแดนนั้นคงมีอยู่ เพียงแต่มันอาจอยู่ในอนาคตที่ไกลสักหน่อย

จริงๆ บทของท่านประมุขกอร์คอนมีไม่มากครับ ได้พูดแค่ไม่กี่ประโยค แต่ทุกประโยคนั้นมีสาระประเด็นทั้งสิ้น อย่างตอนที่เขายื่นหน้าเข้าไปคุยกับกัปตันเคิร์ก ก่อนกลับมาที่ยานว่า “ยัง ไม่ไว้ใจในตัวฉันใช่ไหม… ถ้าต่อไปสองเผ่าพันธุ์ของเราอยู่กันอย่างสันติได้สำเร็จ ก็คงจะมีคนรุ่นเรานี่แหละ ที่อยู่ร่วมกันได้ลำบากที่สุด

คารวะพี่ David Warner เลยครับ ว่าเขาสามารถเล่นบทนี้ได้ดีจริงๆ

กรณีอันนี้สามารถนำไปต่อยอดได้ในหลายสถานการณ์ แล้วแต่จะคิดกันนะครับ

1368120637

ขณะเดียวกันกัปตันเคิร์กก็ได้เรียนรู้สิ่งสำคัญ เข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ดินแดนที่รอการค้นพบ” ในท้ายที่สุด

ตอน แรกเคิร์กแค้นที่พวกคลิงออนเคยฆ่าลูกเขา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาตระหนักถึงความตั้งใจจริงของประมุขกอร์คอน อีกทั้งเขาเห็นแล้วครับว่าการปล่อยให้สภาวะในอวกาศมันกรุ่นสงครามแบบนี้ไป เรื่อยๆ มันมีแต่แย่กับแย่ ต้องมีลูกใคร พ่อใครหรือแม่ใครมาตายแบบที่เดวิดลูกของเขาโดนอีกไหม แต่ถ้าเราสร้างสันติได้ หาจุดยืนร่วมกันได้ หาทางเป็นมิตรต่อกันได้ มันก็อาจช่วยชีวิตคนได้อย่างมากมาย

แต่จุดนี้ยอมรับว่าติดนิดๆ ตรงที่หนังไมค่อยมีฉากประเภทที่แสดงให้เห็นว่าเคิร์กเข้าใจและตระหนักใน ประเด็นนี้ เหมือนจู่ๆ พอบทจะเข้าใจก็เข้าใจทันที แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ หนังฮอลลีวู้ดสมัยก่อนมักจะเป็นแบบนี้เสมอ เหมือนจะละบางสถานการณ์ไว้ในฐานที่เข้าใจ แต่ก็ทำให้อารมณ์คนดูไม่ได้รับการบิวท์ไปโดยปริยาย

ในขณะที่การลอบ สังหารประมุขกอร์คอนก็เหมือนเหตุการณ์จริงที่เกิดครับ ใครพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสันติภาพ พวกเขามักจะต้องเอาชีวิตตนเองไปอยู่บนทางปืน ไม่ว่าจะอับราฮัม ลิงคอล์น, จอห๋น เอฟ เคนเนดี้, โรเบิร์ต เคนเนดี้, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง หรือ มหาตมา คานธี การ ที่พวกเขาถูกลอบสังหารมันมีความหมายว่าพวกเขาทำบางอย่างที่ถูกจุด ทำบางอย่างที่คนบางกลุ่มยอมไม่ได้ ปล่อยให้ทำต่อไม่ได้ เพราะเขามีโอกาสจะทำให้มันสำเร็จจึงต้องถูกปลิดชีวิตไป

บุคคลที่ร่วม มือในแผนร้ายครั้งนี้ก็มีหลายแบบครับ ทั้งแบบที่ตื่นกลัวความเปลี่ยนแปลงก็มี แบบที่มองว่าการหาสันติภาพของประมุขคือการทรยศต่อความเชื่ออันหนักแน่นของ ชาวคลิงออน ต่อเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นนักรบอันนี้ก็มีเหมือนกัน หรือแม้แต่บางกลุ่มที่ไม่อยากให้คลิงออนมาแบ่งชิ้นเค้ก นี่ก็ยังมีเช่นกัน

ผมมีโอกาสได้ดู Special Features ของหนังชุดนี้นะครับ ผมชอบตอนที่ Dennis Ross นักการฑูตอเมริกันกล่าวว่า โปรด สังเกตครับ ว่ากรณีการลอบสังหารในอดีตนั้น ผู้ลอบสังหารมักได้รับการสอนสั่งอย่างเข้มงวดให้เชื่อและศรัทธาในบางสิ่ง เขาเติบโตมาในโลกที่มีการแบ่งแยกถูกผิดแบบชัดเจน ไม่ขาวก็คือดำไปเลย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติหากคนที่คิดแบบนั้นจะลงมือสังหารคนที่เขามองว่า เป็น “สีดำ” หรือมองว่า “ทำผิด”

สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสมาตลอดตอนดู Star Trek คือ ผู้ร้ายในเรื่องจะมีเหตุผลที่น่าสนใจประกอบการกระทำของตนเอง บางครั้งก็เป็นเรื่องจิตใจ บางครั้งก็ว่าด้วยผลประโยชน์ บางครั้งก็เกิดจากความเชื่อ และสำหรับภาคนี้ หากจะใช้คำว่า “รวมมิตร” ก็คงไม่ผิดอะไร เพราะฝ่ายตรงข้ามกัปตันเคิร์กในภาคนี้มีเยอะมาก และมีหลายเผ่าพันธุ์มากด้วย

Star Trek ภาคนี้มีดีจริงๆ ครับ แม้ว่ามันจะไม่ได้สนุกที่สุด เร้าใจที่สุด แต่ก็มีความสนุกพอประมาณ มีประเด็นชวนคิดสะท้อนความจริงระดับโลกได้อย่างน่าสนใจ

ในแง่ของเนื้อเรื่องก็นับว่าเป็นการเชื่อมโยงไปสู่เหตุการณ์ในชุด The Next Generation ได้อย่างดี เพราะใน TNG นั้นคลิงออนก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในลูกยานเอ็นเตอร์ไพรส์ ซ้ำยังเป็นกำลังสำคัญของยานอีกด้วย ซึ่งคนที่ไม่ดูภาคนี้แต่ไปดูภาค TNG เลยก็อาจสงสัยว่าไหงศัตรูแห่งสหพันธ์อย่างพวกคลิงออนถึงได้กลายเป็นพันธมิตร ที่ได้ คำตอบก็อยู่ในภาคนี้นี่เองครับ

และถ้าสังเกตดีๆ คุณจะได้เห็น Michael Dorn เจ้าของบทมิสเตอร์ วอร์ฟ คลิงออนหนึ่งในลูกยานเอ็นเตอร์ไพรส์ในชุด TNG โดดมาแสดงด้วย ในบททนายฝ่ายที่แก้ต่างให้กับกัปตันเคิร์กและหมอแม็คคอยครับ (กล่าวกันว่าแท้จริงแล้ว ทนายชาวคลิงออนที่เราเห็นนี้ ก็คือปู่ของมิสเตอร์ วอร์ฟ นั่นเอง)

ดาราในภาคนี้ก็แสดงกันได้ดีอยู่แล้วล่ะครับ รับบทนี้มาตั้งหลายสิบปี นอกจากนี้ดาราหน้าเก่าก็ยังมาร่วมแจมในการผจญภัยครั้งนี้แบบค่อนข้างครบ ตั้งแต่ Mark Lenard ในบทซาเร็ก พ่อของสป็อก, Grace Lee Whitney ในบทเจ้าหน้าที่เจนิซ แรนด์ ที่มาทำหน้าที่เป็นหน่วยสื่อสารให้กับยานเอ็กเซลซิเออร์, Brock Peters ในบทผู้การคาร์ทไรท์, John Schuck ในบทท่านฑูตแห่งคลิงออน ซึ่ง 2 คนนี้เคยปรากฏตัวมาแล้วใน Star Trek ภาค 4

อีกคนที่ลืมไม่ได้ก็คือ Christopher Plummer จากหัวหน้าครอบครัวตระกูลฟอนแทรปผู้น่ารักแห่ง The Sound of Music มาคราวนี้เขาพลิกบทบาทเป็นนายพลแชง นักรบคลิงออนที่หมายจะต่อสู้กับเคิร์กให้ได้ ซึ่งเขาก็ดูเป็นนายพลที่หลงตัวเองและโหดเหี้ยมได้ดีทีเดียวครับ ในขณะที่ Cattrall ก็อาจทำให้แฟนๆ Sex in the City ประหลาด ใจ เพราะนอกจากเธอจะเล่นบทแม่สาวแรงสูง ซาแมนต้า โจนส์ได้อย่างเนียนมากๆ แล้ว เธอยังเล่นเป็นชาววัลแคนสาวได้เข้าท่ามากๆ อีกด้วย (โดยเฉพาะลีลายักคิ้วข้างเดียวสไตล์วัลแคน) อ้อ แล้วเรายังจะได้เห็น Christian Slater โผล่มาในฉากหนึ่งด้วยครับ

Star Trek VI: The Undiscovered Country ถือเป็นผลงานชั้นดีอีกตอนในหนังชุดนี้ครับ สนุก รสชาติเข้มต่างจากตอนก่อนๆ และเปี่ยมสาระมาก จนบอกได้เลยครับว่าถ้าเป็นแฟนหนังชุดนี้ล่ะก็ อย่าพลาดเด็ดขาดครับ หรือถ้าไม่เคยดูหนังชุดนี้มาก่อน แต่โอเคกับหนังแนวท่องอวกาศล่ะก็ เรื่องนี้ก็เป็นอะไรที่สมควรลองดูสักคราเหมือนกันครับ

1368120696

… ก่อนผมจะรีวิว Star Trek ฉบับสมบูรณ์นี้ผมได้นำเอา Trek มาย้อนดู เริ่มตั้งแต่ฉบับซีรี่ส์ดั้งเดิม ตามด้วยภาคหนังใหญ่ไล่เรียงกันไป และเมื่อนาทีสุดท้ายของหนังภาคนี้มาถึง ผมเกิดความรู้สึกผูกพันกับหนังชุดนี้ กับดาราทีมนี้ ซึ่งปกติก็ผูกพันอยู่แล้วครับ เพราะดูหนังชุดนี้มานานและดูหลายรอบด้วย แต่ครั้งนี้ยิ่งผูกพันหนักเพราะนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมดูซีรี่ส์จบก่อน แล้วค่อยมาดูเรียงภาคอีกที (แน่นอนว่ากินเวลาหลายสิบวันอยู่)

ผมได้ ติดตามเรื่องราวของพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้น คุ้นเคยตั้งแต่สมัยหนุ่ม แล้วก็ได้เห็นพวกเขาในการผจญภัยรวมกันครั้งสุดท้าย… ผมรู้สึกรักหนังชุดนี้จริงๆ ครับ รวมไปถึงรักตัวละครทุกตัวในเรื่องด้วย

เมื่อฉากสุดท้ายมาถึง ความรู้สึกหวิวๆ ยามโบกมืออำลา มันยากจะบรรยายเสมอ…

ขณะ เดียวกันผมก็ทึ่งครับ เพราะตำนานหนังชุดนี้เดินทางมาไกลทีเดียวกว่าจะมาถึงภาค 6 นี่ แน่นอนครับว่าเรื่องมันยังไม่จบ เรายังจะได้เห็นกัปตันเคิร์กอีกในภาค 7 ไหนจะภาครีเมคอีก แต่หลังจากดูไล่ไปจนถึงภาคปี 2009 ก็บอกตามตริงว่าความรู้สึกอำลาอาลัยในหนังชุดนี้ มันแรงที่สุดตอนจบภาค 6 นี่แหละ

ไม่รู้ทำไม แต่ผมรู้สึกดีใจจริงๆ ที่ได้รู้จักหนังชุดนี้…

ผมไม่คิดว่าตัวเองรู้จักหนังเรื่องนี้มากจนถึงขั้นเป็น Trekkie หรือ Trekker แต่ผมรู้อยู่อย่างหนึ่ง… ผมรักหนังชุดนี้จริงๆ

อาลัย… อิ่มเอม… อบอุ่น… น่าจะจำกัดความรู้สึกที่ผมมีได้

สามดาวครับStar31(8/10)

1368120737