หลังจากผมได้รีวิวฉบับสมบูรณ์ให้กับ เจมส์ บอนด์ 007 ครบทั้ง 23 ตอนไปแล้วนะครับ ตอนนี้ก็ได้เวลาสำหรับรีวิวหนังชุดที่ผมชอบมากอีกชุดหนึ่ง นั่นก็คือ Star Trek ครับ ที่ผมเคยรีวิวไปแล้ว 1 ครั้ง มาคราวนี้ก็จะจัดการรีวิวให้ครบสมบูรณ์ ก่อนอื่นก็ขอเริ่มกันด้วยที่มาที่ไปของตำนานหนังชุดนี้นะครับ
The Journey Begins
Star Trek คือ ซีรี่ส์ตะลุยอวกาศระดับตำนานที่ได้รับการกล่าวขานมาเกือบ 50 ปีแล้วนะครับ ซึ่งซีรี่ส์ชุดนี้ถือกำเนิดจากไอเดียของ Gene Roddenberry ชายผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน เขาเคยเป็นตำรวจและเป็นนักบิน อีกทั้งมีโอกาสได้ร่วมรบทางอากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเขายังสนใจเรื่องเทคโนโลยีกับเครื่องยนต์กลไกเป็นพิเศษด้วย
หลัง จากทำงานเป็นนักบินให้สายการบินแพนแอมได้สักระยะ เขาก็ตัดสินใจหันเหชีวิตเข้าสู่วงการบันเทิงบ้าง ไม่ใช่มาเป็นนักแสดงหรอกนะครับ แต่มาเพื่อเขียนบทซีรี่ส์อย่าง Highway Patrol และ Have Gun, Will Travel ซึ่งตอนที่เขาสร้างสรรค์นั้นก็ได้รับคำชมไปไม่น้อย
ด้วย ความรักในเรื่องการบิน และยังชื่นชอบหนังไซไฟมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำให้เขาเกิดไอเดียที่จะผสมผสานเรื่องราวการผจญภัยไปยังดินแดนที่ยังไม่เคย มีใครค้นพบมาก่อน แบบ Gulliver’s Travels (กัลลิเวอร์ผจญภัย) มายำเข้ากับหนังผจญภัยในอวกาศแบบ Flash Gordon
Roddenberry ได้กำหนดโครงสร้างของซีรี่ส์นี้ไว้ว่าจะต้องมี 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ เรื่องราวตื่นเต้นลึกลับ สร้างความสนุกให้ผู้ชม และต้องมีแง่คิดที่ช่วยประดับความรู้พ่วงเข้าไปด้วย เพราะหนังซีรี่ส์แนวบู๊ๆอวกาศจ๋าอย่าง Flash Gordon มักจะเน้นแต่องค์ประกอบแรกเท่านั้น ส่วนสาระมักถูกลืม บางตอนถึงขั้นเป็นละครน้ำเน่าไปเลยก็มี เขาจึงสร้างสรรค์พล็อตซีรี่ส์ผจญภัยในอวกาศนี้อย่างตั้งใจและพิถีพิถัน จนมั่นใจว่าซีรี่ส์ชุดนี้จะต้องเป็นที่สนใจได้แน่ๆ
เมื่อสร้างบทเสร็จก็เอาไอเดียไปเสนอกับสถานีโทรทัศน์ CBS แต่ก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากทางสถานีมีหนังท่องอวกาศอย่าง Lost in Space ซึ่งขายดีอยู่แล้ว จึงไม่อยากรับ Star Trek มาตัดเรตติ้งกันเอง
Roddenberry เลยหอบโปรเจคท์ไปหาช่อง NBC แทน ซึ่งทางนั้นก็ยินดีรับ Star Trek เอาไว้ครับ ทีนี้จึงได้ฤกษ์ในการคัดเลือกนักแสดง สร้างฉาก วางเนื้อหา
ตอนแรกของซีรี่ส์ที่ชื่อว่า The Cage ก็ถือกำเนิดขึ้น อันเป็นเรื่องราวของกัปตันยานยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพร์ส ที่ชื่อ คริสโตเฟอร์ ไพค์ (Jeffrey Hunter) กับภารกิจท่องอวกาศ โดยมี สป็อก (Leonard Nimoy) มนุษย์ต่างดาวชาววัลแคนมาประกบคู่กับไพค์ แต่ถ้าว่ากันถึงคาแรคเตอร์แล้ว สป็อกยุคนั้นยังไม่มีความเด่นอะไรครับ มีหน้าที่คอยดูแลยานและช่วยเหลือกับตันเท่านั้น
แต่แล้ว The Cage กลับไม่เป็นที่ถูกใจของ NBC โดยทางนั้นให้เหตุผลว่า “มันมีเนื้อหามากไป ต้องใช้ความคิดระหว่างดูมากไป และมีฉากแอ็กชันน้อยเกินไป” กลายเป็นว่าความใหม่ที่น่าจะเป็นจุดเด่นของซีรี่ส์นี้ก็กลับเป็นปัญหา จน Roddenberry ต้องกลับไปปรับโครงสร้าง โดยเพิ่มแอ็กชันให้มากขึ้น แต่ไม่ลดสาระลง พร้อมทั้งเปลี่ยนทีมลูกเรือบนยานเอ็นเตอร์ไพร์สเกือบหมด โดยเหลือสป็อกไว้แค่คนเดียว
สำหรับ The Cage นั้นผมมีโอกาสได้ดูก็เข้าใจความคิดของ NBC ครับ เพราะรสชาติความอร่อยแบบบันเทิงยังไม่มาก ไม่เหมือนพวก Lost In Space ที่มีลูกเล่นและความสนุกแบบที่ทุกคนในครอบครัวดูได้หมด แต่ The Cage นั้นเหมาะสำหรับคอไซไฟที่ชอบอะไรจริงจัง มีหลักและเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่า
อย่าง ผมจริงๆ ก็ชอบนะครับ เนื้อเรื่องมันจะว่าไปด้วยกัปตันไพค์ได้เดินทางไปยังดาวแห่งหนึ่ง ในตอนแรกของพบผู้รอดชีวิตและพบหญิงสาวแสนสวยนามว่าวีน่า (Susan Oliver) แต่แล้วแค่พริบตาทุกคนก็หายไป แล้วกัปตันไพค์ก็โดนจับโดยชาวดาวนั้น ก่อนที่เรื่องจะดำเนินไปว่าชาวดาวนั้นกำลังดำเนินการทดลองสิ่งมีชีวิตที่ ชื่อว่า “มนุษย์” ก่อนที่สุดท้ายสป็อกกับพวกจะเดินทางมาช่วยและนำพากัปตันกลับสู่ยาน
The Cage ค่อนข้างจริงจังครับ อารมณ์ขันแทบไม่มี การผจญภัยก็ไม่เน้นแอ็กชันแต่จะเน้นที่แนวคิด ขณะเดียวกันคาแรคเตอร์ของกัปตันไพค์, สป็อก และลูกเรือคนอื่นๆ ก็ยังไม่เด่น ยกเว้นคุณหมอฟิลลิป บอยซ์ (John Hoyt) นายแพทย์ประจำยานที่ขโมยซีนด้วยการให้กัปตันไพค์ดื่มเหล้าแก้เซ็งแทนที่จะให้ยาบำรุง สำหรับผมหมอฟิลลิป “อินดี้” มากๆ สำหรับยุคนั้นครับ
จากนั้น Star Trek ฉบับยกเครื่องใหม่ก็เริ่มต้นถ่ายทำครับ โดยกัปตันคนใหม่ก็คือ เจมส์ ไทบีเรียส เคิร์ก (William Shatner) ผู้นำผู้ชาญฉลาดที่มาพร้อมไหวพริบปฏิภาณ โดย Roddenberry ได้เพิ่มชีวิตชีวาลงไปในตัวเคิร์กให้มากกว่ากัปตันไพค์ เพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้ผู้ชมชื่นชอบ ส่วน สป็อก (ที่ยังได้ Nimoy มาแสดงเหมือนเดิม) ก็ได้รับการเพิ่มคาแรคเตอร์ความเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ชอบวิเคราะห์ สงสัยในพฤติกรรมของมนุษย์ อันเป็นบทที่ถูกสร้างเพื่อวิจารณ์และมองต่างมุมกับคนโดยเฉพาะ (แล้วพี่แกก็ดังสุดๆ)
ลูกเรือคนต่อมาคือ เลนเนิร์ด แม็คคอย หรือ หมอโบนส์ (DeForest Kelley) หัวหน้าแพทย์ประจำยานที่ชอบตีกับสป็อกประจำ เพราะมองต่างกันตลอด หมอโบนส์นั้นจะชอบคิดชอบทำอะไรตามอารมณ์แบบมนุษย์ มีโกรธมีของขึ้นตามประสา ในขณะที่สป็อกเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ไร้อารมณ์ก็เห็นว่าการปล่อยให้อารมณ์มามี ผลต่อการตัดสินใจในชีวิต ย่อมไม่ใช่สิ่งดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คู่นี้ขยันงับกันบ่อยๆ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสีสันของหนังชุดนี้ แต่แม้จะงับกันบ้าง ชวนตีกันบ้าง ทว่าใจจริงแล้วทั้งสองนับถือกันและกันเสมอแบบตายแทนกันได้
ลูกเรือที่เหลือก็ได้แก่ อูฮูร่า (Nichelle Nichols) เจ้าหน้าที่หญิงผิวดำผู้คอยควบคุมด้านการสื่อสาร, ฮิคารุ ซูลู (George Takei ที่นักดูหนังรุ่นใหม่น่าจะจำเขาได้จากบทพ่อของฮิโร นากามูระแห่งซีรี่ส์ Heroes) กับหน้าที่ในการคุมยาน เป็นพลขับเคลื่อน, เจนิซ แรนด์ (Grace Lee Whitney) เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลาธิการ คอยช่วยเหลือกัปตันในการดูแลบริหารยาน ซึ่งตัวละครนี้ก็ถูกใส่เข้ามาเพื่อดึงดูดผู้ชมหนุ่มๆ โดยเฉพาะครับ เพราะเธอสวย น่ารัก ผมสีทอง (แต่บทนี้ก็ปรากฏตัวเพียงครึ่งแรกของปี 1 เท่านั้นครับ)
คนต่อมาก็คือ มอนต์โกโมรี่ สก็อตต์ หรือ สก็อตตี้ (James Doohan) เจ้าของสมญา “ช่างเครื่องปาฏิหาริย์” ผู้สามารถแก้ ซ่อม และยกเครื่องทุกอย่างบนยานได้ ความเก่งกาจก็ประมาณแม็กไกเวอร์แห่งโลกอนาคตน่ะครับ ซึ่งก็มีอยู่หลายตอนที่ถ้าไม่มีพี่แกคอยซ่อมยานล่ะก็ เป็นอันตายทั้งลำ เขาเลยเป็นดาราชูรสที่คนดูพากันประทับใจ โดยในตอนแรกที่ปรากฏตัวนั้นเขาจะดูจริงจัง ไม่ยิ้มไม่ขำเท่าไร แต่พอเวลาผ่านไปความฮาก็เพิ่มขึ้นตามลำดับครับ ถ้าจะว่าไปสก็อตตี้นี่แหละเป็นเจ้าหน้าที่คนแรกที่กล้าพูดยวนๆ กวนๆ ใส่กัปตันเคิร์ก
แล้วก็ยังมี คริสทีน ชาเปล พยาบาลประจำยาน ที่รับบทโดย Majel Barrett ภรรยาตัวจริงของ Roddenberry ซึ่งเธอก็เคยได้รับบทลูกเรือ “หมายเลข 1” ในตอน The Cage มาก่อนครับ แต่ว่ากันว่าดูผู้สร้างจะไม่ค่อยปลื้มเธอเท่าไร ทำให้พอมาเล่นฉบับนี้บทของเธอน้อยลง ออกแนวบทสมทบที่โผล่บ้างเป็นบางตอนมากกว่าน่ะครับ
ส่วนลูกเรือที่เข้ามาร่วมทีมท้ายสุดก็คือ พาเวล เชคอฟ (Walter Koenig) เป็นต้นเรือชาวรัสเซียครับ มาเป็นลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สในปี 2 ซึ่งการเพิ่มบทเชคอฟเข้ามานั้น กล่าวกันว่าสาเหตุเริ่มจาก หนังสือพิมพ์ Pravda ของรัสเซีย (หรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้น) ตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีตัวละครเป็นชาวรัสเซียบนยาน ทั้งๆ ที่ Yuri Gagarin มนุษย์คนแรกที่ได้ออกไปนอกอวกาศก็เป็นชาวรัสเซีย
ในเวลาต่อมา Roddenberry ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่านั่นถือเป็นความผิดพลาดของเขาเองที่ไม่ได้คำนึงถึง เรื่องนี้ และแสดงความเสียใจที่ไม่ได้ใส่ตัวละครสัญชาติรัสเซียลงไปในซีรี่ส์ตั้งแต่ เริ่มแรก เขาเลยแก้ไขด้วยการเติมบทเชคอฟลงไป
แม้การยกเครื่องใหม่ จะทำให้ซีรี่ส์ออกมาลงตัวขึ้น โดยเฉพาะบทกัปตันเคิร์กผู้ชาญฉลาดที่คนดูชื่นชอบ และพร้อมจะลุ้นเอาใจช่วยเสมอตอนเขาและลูกยานมีภัย อีกทั้งสป็อกที่มีคำพูดชวนคิดทั้งในเชิงปรัชญาและตรรกะมากระตุกเซลล์สมองผู้ ชมอยู่บ่อยๆ จนเรียกได้ว่าคุณภาพคับแก้ว แต่หากว่ากันถึงเรตติ้งแล้วกลับน้อยเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด
ซีรี่ส์ Star Trek มีโอกาสได้อยู่ในจอทีวีเพียง 3 ซีซั่นเท่านั้น (1966 – 1969) เบ็ดเสร็จความยาว 79 ตอนก่อนจะถูกถอดออกจากโปรแกรม (โดยตอน The Cage ในที่สุดก็ได้ถูกฉายแบบเนียนๆ คือเอาคลิปมาใส่เพื่อประกอบการเล่าเรื่องราวในตอนที่ 11 และ 12 ของปี 1)
สาเหตุที่โดนยกเลิกก็เพราะเรตติ้งไม่งดงามเท่าที่ควรครับ เมื่อผลตอบรับออกมาแบบนี้ Roddenberry จึงไร้ทางเลือก ได้แต่ก้มหน้ายอมรับก่อนเขาและทีมงานจะหันไปทำโปรเจคท์อื่นๆ ต่อ
แต่ ลองว่าของมีดีก็ย่อมได้ผลดีแม้จะช้าไปบ้างก็ตาม ในที่สุดซีรี่ส์ชุดนี้ก็มาฮิตสุดๆ ตอนฉายรีรัน แล้วฮิตที่ว่านี่คือฮิตไปทั่วโลกเลยนะครับ Star Trek ได้ออกฉายในประเทศต่างๆ แล้วก็ได้รับความนิยมถึงขนาดมีสาวกถวายหัวชื่นชอบจนเรียกตัวเองว่า Trekker (แฟนเดนตายที่รักซีรี่ส์สุดชีวิต) กับ Trekkie (อันนี้ก็เป็นแฟนที่ชอบ แต่ไม่ซีเรียสเท่ากลุ่มแรก) ด้วยกระแสปากต่อปากถึงความสนุกและสาระดีๆ ทำให้คนดูเพิ่มขึ้น ในที่สุดก็มีเสียงเรียกร้องให้เหล่าลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สกลับมาอีกครั้ง
และอันที่จริง Roddenberry มีแผนจะทำ Star Trek เป็นฉบับหนังใหญ่ตั้งแต่ก่อนซีรี่ส์จะโดนแคนเซิลอีกครับ เนื้อหาก็ว่าด้วยเหตุการณ์อันเป็นจุดเริ่มต้น ว่ากัปตันเคิร์ก, สป็อก และหมอแม็คคอยมาเจอกันได้อย่างไร เรียกว่าเป็นภาค Beginning นั่นเอง แต่พอซีรี่ส์โดนล้ม โครงการนี้ก็เลยโดนพับไป
แต่ Roddenberry ก็ไม่ละความพยายามครับ ยังคงติดต่อกับค่าย Paramunt Pictures สำหรับ Trek ภาคหนังใหญ่มาโดยตลอด จน Paramount เริ่มสนใจเมื่อได้รู้ว่า Trek ได้รับความนิยมตอนฉายรีรัน เลยให้ Roddenberry ลองเขียนบทมาเสนอ
บทร่างแรกของ Trek ภาคหนังใหญ่มีชื่อว่า The God Thing มีเนื้อหาว่าด้วยพระเจ้าครับ โดยมุมมองของ Roddenberry นั้นคิดว่าพระเจ้าอาจเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์โบราณจากโลกอื่นที่ทรงอานุภาพจน สามารถสร้างชีวิตขึ้นมาบนโลกได้ แต่บทนี้ก็ถูกปฏฺิเสธเนื่องจากผู้บริหารส่วนใหญ่ของ Paramount ไม่ต้องการให้นำเรื่องพระเจ้ามาตีความใหม่เช่นนี้
หลัง จากนั้นทีมงานก็พยายามเสนอบทใหม่ๆ จากนักเขียนรายอื่นๆ อย่างพล็อตว่าด้วยการเผชิญกับหลุมดำที่ขยายตัวเข้ามาใกล้โลกทุกทีๆ หรือเรื่องว่าด้วยตำนานของชาวมายันที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ แต่ทาง Paramount ก็ติว่าพล็อตเหล่านี้ยังไม่อลังการพอ กระทั่ง Roddenberry ลองเสนอพล็อตว่าด้วยการผจญภัยแบบข้ามเวลา (โดยเขาเขียนร่วมกับ Jon Povill) ก็ยังถูกปฏิเสธอีกเช่นเคย
ในเวลาต่อมา Povill ก็โดดลงมาช่วย Roddenberry แบบเต็มตัวครับ เขาช่วยลิสต์รายชื่อมือเขียนบทมาสร้างพล็อตให้ มีชื่ออย่าง Francis Ford Coppola, George Lucas และ Robert Bloch ด้วยครับ แต่ในที่สุดบทที่ได้รับความสนใจกลับเป็นบทร่างความยาว 20 หน้าชื่อว่า Planet of the Titans ที่เขียนโดย Chris Bryant และ Allan Scott
บทหนังฉบับนี้ว่าด้วยการผจญภัยไขปริศนาตำนานยักษ์ไททัน ตามด้วยการผจญภัยย้อนเวลาไปนับล้านปี ซึ่งตามบทแล้วเคิร์กจะกลายเป็นผู้สอนให้มนุษย์ดึกดำบรรพ์รู้จักไฟครับ ว่าง่ายๆ คือเคิร์กก็กลายเป็น โพรมีธีอุส ในตำนานนั่นเอง ซึ่งบทนี้ทีมงานพอใจมากครับ มันสดใหม่น่าสนใจ ทำให้พวกเขาคัดเลือกผูู้กำกับมารับงาน ซึ่งก็มี Coppola, Steven Spielberg, Lucas และ Robert Wise อยู่ในโผ แต่ตอนนั้นไม่มีใครว่างสักคน ก่อนที่ Philip Kaufman จะก้าวเข้ามาพร้อมออกตัวว่าเขาชอบเรื่องไซไฟอวกาศมาแต่ไหนแต่ไร และพร้อมจะกำกับให้
ทว่าก่อนเปิดกล้องได้ไม่นานก็เกิดปรากฏการณ์ Star Wars ขึ้น ไม่บอกก็คงทราบนะครับว่า SW โกยเงินไปแบบกระหน่ำจนทาง Paramount เองเริ่มใจฝ่อ เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อหนังแนวอวกาศมี SW มาครองตำแหน่งได้ใจผู้ชมไปขนาดนี้แล้ว การจะทำ Trek ให้ออกมาเทียบเท่า ย่อมเป็นเรื่องยากเกินกำลัง คนดูก็อาจไม่อยากจะควักกระเป๋ามาดูหนังอวกาศติดๆ กัน ทำให้โปรเจคท์โดนระงับไป
พอโดนแบบนี้มากๆ เข้า Roddenberry จึงเลิกคาดหวัง ไม่คิดจะทำฉบับหนังใหญ่อีกต่อไป แต่หันกลับมาทำ Trek ฉบับซีรี่ส์ชุดใหม่ออกมาแทน โดยทาบทามให้ตัวละครจากชุดแรกกลับมาพร้อมสร้างตัวละครใหม่ใส่ลงไป และใช้ชื่อว่า Star Trek: Phase II โดยได้ Harold Livingston ที่เคยผ่านงานเขียนบทให้กับซีรี่ส์ Mission: Impossible (ชุดต้นฉบับ) มาช่วยควบคุมการผลิต
ทีนี้ Roddenberry ก็ติดต่อไปยังนักแสดงชุดเดิมซึ่งทุกคนก็พร้อมกลับมายกเว้น Leonard Nimoy ทำให้ต้องมีการสร้างตัวละครใหม่นามว่า ซอน ซึ่งเป็นชาววัลแคนขึ้นมาแทนที่ แต่ด้วยความที่ในบทนั้นซอนจะเป็นเจ้าหน้าที่ชาววัลแคนที่อายุน้อยและ ประสบการณ์ยังไม่มาก ทำให้ต้องมีการเพิ่มตัวละครที่ชื่อผู้การเดคเกอร์และไอเลียเสริมลงมาเพื่อ คอยประกบสอนซอนอีกที
แล้วพล็อตสำหรับตอนแรกของซีรี่ส์ชุดใหม่ก็ถูกเขียนขึ้นโดย Alan Dean Foster (โดย Livingston มาคอยเกลาให้อีกต่อหนึ่ง)
ตอนแรกของ Star Trek: Phase II มีชื่อว่า In Thy Image ว่าด้วยการเผชิญหน้าครั้งสำคัญระหว่างลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สกับวัตถุประหลาด ขนาดยักษ์ที่พุ่งตรงมายังโลก และทุกคนก็เชื่อว่ามันจะก่ออันตรายร้ายแรงกับโลกได้
แต่ก่อนโปรเจคท์นี้จะเริ่มถ่ายทำ ก็มีหนังไซไฟเรื่อง Close Encounters of the Third Kind ของ Spielberg ทำเงินถล่มทลายไปกว่า 100 ล้านเหรียญ ทำให้ความเชื่อที่ว่า “ไม่น่าจะมีหนังแนวเดียวกันฮิตอย่างต่อเนื่องได้หรอก” ถูกทำลายลง ค่าย Paramount ตระหนักแล้วว่าคนดูกระหายหนังอวกาศกันขนาดไหน ขอเพียงทำให้ดีก็เตรียมรับความสำเร็จได้
สถานการณ์จึงเปลี่ยน โดย Paramount แทงเรื่องลงมาอีกรอบให้ระงับการสร้าง Star Trek: Phase II ก่อนเปิดกล้องแค่ 20 วันเท่านั้น แล้วก็เดินเครื่องยกโปรเจคท์ Trek ให้กลายเป็นหนังใหญ่ พร้อมโปรโมตล่วงหน้าว่า Trek หนังใหญ่จะมีความยิ่งใหญ่เหนือเวอร์ชั่นทีวีแน่นอน
ในวันที่ 28 มีนาคม 1978 Paramount ได้จัดการประชุมครั้งใหญ่ซึ่งว่ากันว่าบริษัทไม่ได้จัดการประชุมระดับนี้มาตั้งแต่สมัยที่ Cecil B. DeMille ประกาศจะทำ The Ten Commandments (1956) หรือ บัญญัติ 10 ประการ สำหรับวาระการประชุมก็เพื่อวางแผนสร้าง Trek โดยเฉพาะ ก็เป็นตัวบ่งบอกได้อย่างดีว่า Paramount ให้ความสำคัญกับโปรเจคท์นี้มากพอตัว
ในวันนั้น Michael Eisner โต้โผใหญ่ของ Paramount (ที่เป็นแรงผลักดันคนสำคัญของโปรเจคท์นี้ จากทีวีสู่จอใหญ่) ได้ประกาศว่าผู้กำกับฉบับหนังใหญ่ของ Trek ก็คือ Robert Wise เจ้าของรางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก West Side Story (1961) และ The Sound of Music (1965) ซึ่งกล่าวกันว่าจริงๆ แล้ว Wise ไม่ค่อยได้ดูซีรี่ส์ชุดนี้สักเท่าไร จน NBC ต้องจัดวีดีโอชุดพิเศษให้ Wise เอากลับไปนั่งซึมซับความเป็น Trek อยู่ที่บ้าน
ส่วน ทุนสร้างตั้งแต่คือ 15 ล้านเหรียญ ก่อนที่จะบ้านเป็น $35 ล้านในเวลาต่อมา โดยขั้นตอนการสร้างฉากภายในตัวยานและยานอื่นๆ (นอกเหนือจากเอ็นเตอร์ไพร๋ส) มีการตั้งงบไว้ถึง $2 ล้านเลยทีเดียว เรียกว่าเอาให้สมจริงที่สุดสมที่โฆษณาเอาไว้
ด้านดารานั้นก็เจรจาตามมาแบบครบทีมครับ ไม่ว่าจะเคิร์ก, สป็อก (ที่กลับมาหลังจากได้ทราบว่า Trek จะ ได้ทำเป็นหนังใหญ่), หมอแม็คคอย, ซูลู, อูฮูร่า, สก็อตตี้, เชคอฟ, แรนด์ และชาเปล ส่วนดาราชุดใหม่ที่ตอนแรกวางตัวไว้ว่าจะให้แสดงใน Star Trek: Phase II ก็ได้โยกให้มาเล่นเป็นบทสมทบในหนังใหญ่แทน ได้แก่ วิลลาร์ด เดคเกอร์ (Stephen Collins) กัปตันยานเอ็นเตอร์ไพร์สคนใหม่ที่มารับตำแหน่งหลังจากที่เคิร์กถูกเลื่อนยศให้ไปทำงานในสมาพันธ์แห่งดวงดาว (StarFleet) และไอเลีย (Persis Khambatta) ต้นหนคนใหม่ของยานที่ดูจะมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเดคเกอร์มาก่อน
ส่วนพล็อตนั้นก็นำเอาบท In Thy Image ของ Foster มาดัดแปลงโดยเติมความยิ่งใหญ่ลงไป โดยเนื้อเรื่องจะว่าด้วยภารกิจครั้งใหม่ของกัปตันเคิร์ก ที่ต้องเผชิญกับยานปริศนาที่มุ่งหมายตรงมายังโลก และดูจากเจตนามันก็ไม่น่าจะมีดีสักเท่าไร เนื่องจากระหว่างทาง มันได้ทำให้ยานและสถานีอวกาศหายไปมากมาย จนทุกคนคิดตรงกันว่าถ้าไม่หยุดเจ้ายานปริศนานี้ โลกอาจถึงกาลอวสานได้
ยานนั้นคืออะไร และเคิร์กจะหยุดมันได้หรือไม่… ลุ้นต่อในหนังนะครับ
แล้วหนังออกมาเป็นเช่นไร… ถ้าให้ว่ากันตามจริงก็คือ หนังมีจุดที่ดีมากและยิ่งใหญ่มากๆ ในเรื่องของเทคนิคภาพและ Special Effect ครับ ภาพของอวกาศและยาน (ทั้งภายนอกแล้วภายใน) เนรมิตได้อย่างสมจริง ดูดีมากกว่าสมัยทีวีอย่างเห็นได้ชัด และสิ่งที่สุดยอดที่สุดในหนังต้องยกให้ “ยานลึกลับ” ลำที่ว่าครับ ที่หนังถ่ายทอดภาพออกมาได้ยิ่งใหญ่และลึกลับ ดูแล้วก็รู้สึกน่ากลัวและสวยงามในเวลาเดียวกัน ซึ่งยานลำนี้ไม่ได้มีแค่ภาพด้านนอกให้เห็นนะครับ เมื่อหนังเดินเรื่องไปเกินครึ่งเราจะได้เห็นภายในของยานที่ออกแบบได้น่าสนใจ มาก ทั้งสวย น่าค้นหา และล้ำจินตนาการ จนขอยกนิ้วให้เลยครับในงานด้านภาพและเทคนิคที่สร้างออกมาได้โดดเด่นจริงๆ
แต่จุดที่ “อ่อน” สำหรับหนังก็คือการเดินเรื่องครับ หนังจัดว่าอืดมากเกินไป ความเร้าใจนั้นแทบไม่มี คือนอกจากตอนต้นเรื่องที่หนังเผยให้เห็นถึงฤทธิ์เดชของยานลึกลับนั้นแล้ว ถัดจากนั้นหนังก็เดินเรื่องแบบเรียบเรื่อย เน้นการสนทนาที่ไม่น่าสนใจนัก สมัยเป็นซีรี่ส์ทีวีมันน่าสนใจกว่าน่ะครับและที่สำคัญคืออารมณ์ขันที่เบาบาง มากๆ ตัวละครแต่ละรายนอกจากเคิร์กและสป็อกแล้ว รายอื่นๆ ก็ไม่ค่อยเด่น โดยที่หนังจะไปเน้นที่เดคเกอร์กับไอเลียมากกว่า ซึ่งจุดนี้ก็พอเข้าใจครับเพราะจริงๆ ในเรื่อง 2 คนนี้มีความสำคัญมากอยู่ แต่การทำเช่นนั้นก็ทำให้แฟน Trek อย่างผมรู้สึกคิดถึงตัวละครอื่นๆ ไม่น้อยเหมือนกัน (คือเห็นหน้าแต่ไม่ค่อยมีบทน่ะครับ)
หนังจัดว่าเดินเรื่องช้าไปครับ เข้าใจว่าในหลายฉากนั้นที่ช้าก็เพราะการนำเสนอ “ภาพ” เช่นตอนที่เคิร์กขี่ยานกระสวยไปกับสก็อตตี้เพื่อเดินทางขึ้นยานเอ็นเตอร์ไพ ร์ส หนังใช้เวลาเกือบ 5 นาทีเพื่อฉายให้เราเห็นยานในมุมต่างๆ ซึ่งช่วงแรกมันก็ตื่นตาดีครับ แต่พอนานๆ ไปชักจะรู้สึกว่ามันน่าจะกระชับกว่านี้ได้อีกสักนิด และหนังก็เต็มไปด้วยอะไรแบบนี้ล่ะครับ ฉากเนิ่นๆ บทสนทนานานๆ จะมาน่าสนใจอีกทีก็ตอนที่พวกเคิร์กเข้าสู่ใจกลางของยานลึกลับนั่น
ครับ สรุปว่าหนังนั้นสวยงามสมทุนในเรื่องภาพครับ ดนตรีของ Jerry Goldsmith ก็เข้ากับหนังดี แต่เสียดายที่มีจุดอ่อนในเรื่องความอืด ดีกรีความมีชีวิตชีวาแบบสมัยซีรี่ส์หายไปมากครับ ไม่ว่าจะการต่อปากต่อคำระหว่างหมอโบนส์กับสป็อก หรืออารมณ์ขันของสก็อตตี้กับซูลู แม้แต่เคิร์กเองก็ดูนิ่งเกินจนแทบจะไม่ต่างจากกัปตันไพค์ใน The Cage เลย
ไปๆ มาๆ คนที่มีความลึกได้แสดงอารมณ์มากกว่าใครก็คือเดคเกอร์กับไอเลียนั่นแหละครับ อันนี้ก็ต้องขอชม Collins และ Khambatta ที่สวมบท 2 ตัวละครนี้ได้อย่างถึงแก่นทีเดียว
แต่แม้หนังจะอืดจนชืด ทว่าก็ยังดีครับที่หนังมีหมัดเด็ดซ่อนในตอนท้ายนั่นก็คือ ตัวตนที่แท้จริงของยานลึกลับนั่น ซึ่ง ผมจะสปอยล์ให้ฟังสำหรับผู้ที่อยากรู้นะครับ แต่หากใครไม่ประสงค์จะทราบก็ขอแนะนำให้อย่าอ่านบรืเวณที่มีตัวอักษรสี น้ำเงินเป็นเด็ดขาดครับ
เมื่อ ดำเนินไปประมาณกลางเรื่อง พอยานเอ็นเตอร์ไพร์สพยายามติดต่อกับยานลึกลับนั่น ยานนั้นก็เหมือนมีชีวิตครับ มันได้ติดต่อกลับมาพร้อมแทนตัวเองว่า “วี-เจอร์” (V-Ger) แล้วจากนั้นก็อีกพักใหญ่ๆ เมื่อเคิร์กและพวกเดินทางไปถึงใจกลางของมัน ก็ค่อยพบความจริงว่ามันคือยานวอยเยเจอร์ 6 (Voyeger 6) ที่มนุษย์เราเคยส่งออกไปเพื่อเก็บข้อมูล สำรวจอวกาศ และเป็นสาส์นถึงสิ่งมีชีวิตเรืองปัญญาอื่นๆ ในจักรวาล ทีนี้ยานวอยเยเจอร์ก็ทั้งเก็บข้อมูลและได้รับการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นยาน ที่มีชีวิต และการเดินทางมายังโลกก็เพื่อมาค้นหาผู้ที่สร้างมันขึ้นนั่นเอง
ยอม รับครับว่าพล็อตนี้ดีทีเดียว เปี่ยมจินตนาการและจะว่าหักมุมก็ได้เหมือนกันครับ จากยานที่ใครๆ ก็คิดว่ามีเจตนาร้ายต่อโลก กลับกลายเป็นยานลำแรกที่มนุษย์ส่งออกนอกระบบสุริยจักรวาลแทน เข้าใจคิดจริงๆ ครับ
จริงๆ ถ้าหนังเล่ากระชับกว่านี้และมีความตื่นเต้นมากกว่านี้ หนังน่าจะสนุกเลยล่ะครับ หรือถ้าไม่ก็ใส่ฉากที่มันแฝงแง่คิด ติดปรัชญาให้มากขึ้น แบบนั้นหนังก็น่าจะลงตัวกว่าที่เป็น ว่าง่ายๆ คือหนังมาเสียตรงความอืดที่ถ้าเป็นความเรียบเรื่อยอย่างมีความหมายแบบหนัง 2001: A Space Odyssey ก็คงดีน่ะครับ
แต่ส่วนหนึ่งอาจเพราะนี่คือ Trek ที่ต้องมีลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สเป็นตัวเดินเรื่อง จึงทำให้ส่วนผสมของสไตล์ทั้งสองแนวยังไม่สามารถบรรจบกันได้อย่างลงตัว
ครับ ตัวหนังแม้จะมีจุดดี แต่ก็โดนความอืดเชื่องช้าทอนความดีนั้นลง ซึ่งอย่าว่าแต่คนดูรู้สึกเลยครับ แม้แต่ผู้สร้างก็ยังหวั่นใจเหมือนกัน
เหตุผลหนึ่งที่บทหนังยังไม่ลงตัวเต็มที่ก็เพราะระหว่างการถ่ายทำนั้น หนังมีการแก้บทตลอดเวลาครับ แม้พล็อตแรกเริ่มของ Foster จะเสร็จนานแล้ว แต่ Roddenberry กับ Livingston ก็ผลัดกันแก้บท อีกทั้งมีความขัดแย้งกันเป็นพักๆ ประเภทว่า Roddenberry แก้บทตอนเช้า แต่ Livingston ก็มาเปลี่ยนตอนเย็น มิหนำซ้ำในสัญญายังระบุให้สิทธิ์กับ Shatner และ Nimoy ด้วย ประมาณว่าแม้บทที่เขียนมา ทั้ง Roddenberry และ Livingston จะเห็นชอบก็ตาม แต่หาก Shatner กับ Nimoy ไม่เห็นชอบ บทนั้นก็ต้องตกไป นี่ยังไม่รวมอำนาจเบื้องบนจากผู้บริหาร Paramount ที่ลงมาคอยแทรกแซงเป็นระยะๆ อีกนะครับ ทำให้กระบวนการแก้บท ถ่ายซ่อม แก้แล้ว ถ่ายใหม่เกิดตลอดเวลา
จนผู้กำกับ Wise ถึงกับออกมาบอกว่า เขากำกับหนังมา 30 กว่าปี ได้ออสการ์มา 2 ตัว แต่ก็ยังไม่เคยเจอกองถ่ายไหนจะอลหม่านวุ่นวายขนาดนี้มาก่อนเลย!
ครั้นพอถ่ายทำเสร็จ ตอนฉายรอบทดลองให้กับทีมงานดู ผลที่ได้ก็คือ Livingston เห็นว่าหนังใช้ได้ ส่วน Roddenberry, Jon Povill และภรรยาของเขา พอดูเสร็จปั๊บ Povill เล่าว่าเขาทั้ง 3 มองหน้ากันโดยไม่นัดหมาย แล้วชวนกันไปดื่มที่บาร์ทันทีเป็นการแก้กลุ้ม กล่าวคือทั้ง 3 รู้สึกกังวลกับหนังเรื่องนี้ไม่ใช่น้อย
แม้แต่ Koenig เจ้าของบทเชคอฟ ก็ยังมาเปิดเผยในภายหลังว่าเขาเองก็รู้สึกว่าหนังไม่ค่อยน่าพอใจเช่นกัน ถึงขนาดว่าเขาพนันกับคนในกองว่า “รับรองได้ว่า จะมีไม่มี Star Trek ฉบับหนังใหญ่ภาคต่อไปอีกแน่นอน” (แต่ Koenig ก็แพ้พนันครับ ทว่าเขาเองก็ยังไม่เคยได้จ่ายเงินพนันให้กับคนในกองเลยตราบจนทุกวันนี้)
หนัง ได้ฤกษ์ลงโรงวันที่ 7 ธันวาคม 1979 ซึ่งเปิดตัวได้แรงจนทำสถิติใหม่ (ในตอนนั้น) พอสรุปเบ็ดเสร็จรายได้ในอเมริกาก็ทำไป $82.2 ล้าน (ถ้ารวมทั่วโลกด้วยก็จะเป็น $139 ล้าน) ซึ่งถือว่าหนังทำเงินในระดับที่น่าพอใจครับ แม้จะไม่ถึงกับประสบความสำเร็จเท่า Star Wars หรือ Close Encounters of the Third Kind แต่ก็ถือว่าทำเงินคุ้มทุนและได้กำไรในระดับหนึ่ง และจัดว่ามากพอที่จะทำให้ Paramount สนใจที่จะทำภาคต่อได้
แต่ กระแสตอบรับก็ออกมาในแนวคล้ายกันครับ แฟนๆ ต่างรู้สึกว่าหนังยังไม่สนุกเต็มที่ รสชาติยังไม่กลมกล่อม บทแม้จะน่าสนใจแต่ก็ไม่สามารถขยายความน่าสนใจนั้นให้ฉายแสงได้เต็มที่ ที่สำคัญคือเสน่ห์สมัยซีรี่ส์หายไปมากมาย ไม่ว่าจะความสนุก บันเทิง ความมีชีวิตชีวาของตัวละคร หรือพล็อตลุ้นๆ ที่ชวนเร้าใจ
โดยรวมแล้ว ภาคนี้จึงออกมาในระดับกลางๆ ครับ ไม่ได้สนุกโดดเด่น แต่กระนั้นก็ถือว่ามีดีในเรื่องฉาก เรื่องภาพอวกาศกับภาพภายในยานลึกลับ อีกทั้งประเด็นน่าสนใจว่าด้วยการเรียนรู้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์”
ใน หนังเราจะได้เห็นบานลึกลับนั้นพยายามเรียนรู้ความซับซ้อนของมนุษย์ (ที่มันเรียกว่า “หน่วยคาร์บอน”) แต่การเรียนรู้ของจักรกลนั้นก็ยังทำได้แค่เรียนรู้ผ่านทางการเก็บข้อมูลทาง วัตถุ ทว่าความเป็นมนุษย์แท้จริงแล้วมีอะไรมากกว่ารูปกาย มากกว่าการรวมกันของอะตอม มากกว่าองค์ประกอบทางเคมี
มนุษย์นั้นมี ความรู้สึกครับ มีอารมณ์ มีหลายครั้งที่การกระทำก็เป็นไปโดยไร้เหตุผล หรือบางครั้งการมีเหตุผลก็หาใช่เหตุผลจากตรรกะที่จริงแท้ แต่กลายเป็นตรรกะที่มีอารมณ์เป็นตัวเหนี่ยวนำไปก็มี
ประเด็นหลักๆ ที่ผมสัมผัสจากหนังก็คือ เวลาเราจะเรียนรู้ “สิ่งที่เราไม่รู้จัก” นั้น เราต้องไม่ลืมที่จะสำรวจมันให้ครบมุมรอบด้าน ไม่ว่าจะมุมมองเชิงวัตถุ ตีความพิจารณาผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ขณะเดียวกันเราก็ต้องพิจารณาด้านที่ลึกซึ้งกว่านั้น ด้านที่ต้องใช้ “ใจ” เป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ด้วย
เป็นการสะท้อนให้ตระหนักครับ ว่ามนุษย์เรามี “อุปกรณ์ในการเรียนรู้” หลายชนิด อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้แบบไหนมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรให้อุปกรณ์เหล่านั้นศึกษาเรียนรู้แต่ละสิ่งประกอบกัน เรียนให้รู้ควบคู่กันไป ทั้งแนวดิ่งแนวขวาง แนวลึกแนวตื้น แนววัตถุและแนวจิตใจ
ขณะเดียวกันเราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ตนเองต้องกลายเป็น “เจ้ายานลึกลับ” ที่เรียนรู้อะไรแต่ละอย่างก็มักจะเผลอทำลายสิ่งเหล่านั้นลงไป มิหนำซ้ำยังไม่ใคร่จะรับฟัง ไม่ยอมจะเข้าใจสิ่งอื่นๆ ที่มันกำลังเรียนรู้
ไม่ ยอมเข้าใจว่า “ความแตกต่างของสิ่งอื่นๆ” ที่มันไม่เคยพบเจอมาก่อน เป็นแค่ “สิ่งใหม่ที่ควรทำความเข้าใจ” หาใช่ “ศัตรูที่มีไว้ล้างผลาญ”
ไม่ยอม เข้าใจว่า “จักรวาลนั้นกว้างใหญ่” ไม่ใช่ทุกสิ่งที่เราพบจะมีเพียงขาวกับดำ แต่มันยังมีสีอื่นอีกนับร้อยๆ เฉด ที่เราควรเปิดใจพิจารณามัน
อย่ากลัวในสิ่งที่ไม่รู้ และอย่าลืมหาความรู้ในสิ่งที่กลัว
สรรพ สิ่งในจักรวาลมีทั้งมิตรและศัตรู มีทั้งบวกและลบ มีทั้งสร้างสรรค์และทำลาย… บางครั้งการเริ่มต้นเข้าใจที่สิ่งพื้นฐานก็เป็นสะพานให้เราเข้าใจถึงสรรพ สิ่งได้ง่ายขึ้น
Star Trek: The Motion Picture อาจไม่ใช่ก้าวแรกที่มั่นคงสำหรับการผจญภัยบนจอใหญ่ของหนังชุดนี้ แต่อย่างน้อยมันก็มีบทเรียนที่น่าสนใจทั้งในและนอกจอให้เราได้ศึกษา
สองดาวกว่าๆ สำหรับภาคนี้ครับ(6.5/10)
หมวดหมู่:Adventure, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, Drama, Sci-Fi