พอดูหนังจบ ผมตะโกนดังๆ (ในใจ) ว่า “มัน! TREK! มาก!
ในฐานะหนังแอ็กชันไซไฟ Star Trek into Darkness จัดว่าสนุก เข้มข้น ครบรส ตื่นเต้นน่าติดตามไม่แพ้ภาคแรก แล้วยังมีการหยอดสาระชวนคิดต่อยอดลงไปอีกต่างหาก
และในฐานะที่ผมเป็นแฟนหนังชุดนี้ก็รู้สึก “โดนมากๆ” ที่ทีมงานใส่ใจรายละเอียดดีสุดๆ หลายอย่างเชื่อมเข้ากับ Trek ชุดดั้งเดิมได้ ที่สำคัญคือเป็นการเชื่อมอย่างสร้างสรรค์ ทั้งเคารพความเป็น Trek ของเก่าตามด้วยการผสมตัวตนของ Trek ยุคใหม่เข้ากันได้แบบพอดี
เรื่องราวเกิดหลังจากภาคที่แล้วประมาณ 1 ปี คราวนี้ เจมส์ ที เคิร์ก (Chris Pine) กัปตันยานเอ็นเตอร์ไพร์สต้องเผชิญกับแผนร้ายของชายลึกลับ จอห์น แฮร์ริสัน (Benedict Cumberbatch) ที่อาจหาญถึงขั้นบุกยิงถล่มเหล่าผู้บัญชาการ Starfleet ระดับอาวุโสถึงห้องประชุม
ด้วย แรงแค้นที่เกิดทำให้เคิร์กตัดสินใจนำยานออกไปตามล่าหมอนี่ถึงพรมแดนดาวคลิง ออน (ที่ร่ำๆ ว่าจะเปิดศึกกับสหพันธ์อยู่เนืองๆ)… แต่ก็แน่นอนล่ะครับว่าเรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น มันยังมีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนอีกพอตัว อันนี้แนะนำให้ดูสถานเดียวครับ
ถ้าคุณชอบภาคแรก, เป็น Trekker หรือเป็น Trekkie ขอบอกว่าเรื่องนี้พลาดไม่ได้ และถ้าคุณเป็นคอไซไฟแอ็กชันที่ไม่เคยรู้จัก Star Trek มาก่อน ก็รับรองได้เหมือนกันว่านี่จะเป็นหนังที่โดนใจคุณแน่ๆ เชียร์ให้ดูเต็มที่ครับ
นั่นล่ะครับคร่าวๆ ที่ควรรู้ว่าหนังนี้คู่ควรแก่การดูหรือเปล่า และหลังจากนี้ก็จะมีการสปอยล์เป็นระยะตามระเบียบ หากไม่อยากทราบก็ข้ามไปอ่านดาวที่บรรทัดท้ายสุดตามเคยครับ
ก่อนจะร่ายยาวมขอคารวะทีมเขียนบท Roberto Orci, Alex Kurtzman และ Damon Lindelof อีกทั้งผู้กำกับพี่ J.J. Abrams คือพวกพี่เขาทำได้อีกแล้ว ทำ Trek ที่ เปี่ยมความมันส์บน Timeline ใหม่ที่มีอิสระในการเขียนบทเต็มที่ พร้อมทั้งเคารพของเก่าไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพวกพี่เขาต้องตั้งใจและคิดมาดีมากๆ น่ะครับถึงทำได้แบบนี้
อย่างที่ทราบกันครับว่าภาคก่อนหนังเปิดเรื่อง ด้วยการที่ตัวร้ายย้อนเวลามาเปลี่ยนอดีต นั่นทำให้ Timeline ในหนังชุดใหม่นี้จะไม่เหมือนของเก่าอีกต่อไป อะไรก็เกิดขึ้นได้ตามจินตนาการของทีมงาน แล้วพวกเขาก็เลือกจินตนาการให้ ข่าน นูเนียน ซิงห์ ศัตรูตัวฉกาจตลอดกาลของยานเอ็นเตอร์ไพร์สมาปรากฏตัว ซึ่งถ้าท่านใดสนใจที่มาที่ไปของข่าน ผมก็แนะนำให้ลองแวะไปอ่านรีวิว Star Trek II: The Wrath of Khan ที่ผมเขียนเอาไว้นะครับ เชื่อว่าจะทำให้อรรถรสในการชมเพิ่มไม่มากก็น้อย
ข่าน คือศัตรูที่ร้ายที่สุด เจ้าเล่ห์ที่สุด เจ้าคิดเจ้าแค้นที่สุด และองอาจทรนงที่สุดเท่าที่พวกเคิร์กเคยเจอ ซึ่งฉบับเก่านั้นทำออกมาได้คลาสสิกมาก พอมาฉบับใหม่นี่ก็ถือว่ามาพร้อมความหยิ่งผยองตามด้วยบารมีราศีแบบโหดๆ จับอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
การจะบอกว่าข่านฉบับไหนถึงใจกว่ากันย่อมเป็นการยาก เพราะข่านต่างฉบับก็ต่างแรงจูงใจ ต่าง Timeline กันไป ในขณะที่ข่านฉบับของ Ricardo Montalban นั้นคือเจ้าชายจอมผยอง แฝงด้วยความโหดเปื้อนยิ้ม และความเหี้ยมเปื้อนหลักการ ซึ่งของเก่าจะดูองอาจเพราะจะว่าไปแล้วการปรากฏตัวของข่านฉบับนั้นเหมือน “เจ้าชายแห่งสงครามเพิ่งตื่นขึ้นบนยาน ที่เขาหมายมั่นจะยึด” ท่าทางของข่านฉบับเก่าจึงดูกระหยิ่ม ไว้ตัว และมีมาดเหมือนผู้ดี
แต่ กับข่านฉบับนี้ต้องเจอสถานการณ์ที่ต่างออกไปครับ เขาถูกปลุกโดยนายพลที่ต้องการใช้เขาเป็นเครื่องมือในการทำสงคราม เขาถูกหักหลังทรยศ เขาโดนใช้เหมือนหมากตัวหนึ่ง และเขาก็ตระหนักเสมอว่าตนคือผู้นำที่ยังมีผู้ตามอีก 72 ชีวิตรอคอยเขาอยู่ ทำให้ข่านในหนังเป็นผู้นำที่ซ่อนความเจ็บปวดเอาไว้ใต้ความทรนง เป็นผู้นำที่ยอมถูกกดขี่เพื่อรอวันปลดปล่อยมิตรสหาย ซึ่ง Cumberbatch ถ่ายทอดบทบาทของข่านได้อย่างเจ๋ง และจากเหตุการณ์ทั้งหลายจึงไม่แปลกครับที่ข่านคนนี้จะไม่องอาจ ไม่ไว้ตัว ไม่ทำตัวเหมือนผู้ดีตืนแดง แต่จะเป็นผู้นำจอมเผด็จการและจอมวางแผน โดยส่วนตัวแล้วผมชอบตอนที่ข่านหลั่งน้ำตา และอีกช่วงคือตอนที่ข่านต่อรองกับสป็อก ตอนที่ตนถือไพ่เหนือกว่ายานเอ็นเตอร์ไพร์ส หน้าตาพี่แกดูหยิ่งดูระเริงในชัยชนะมากๆ
ด้านความมันส์ และความลุ้นนั้นผมคงไม่บรรยายล่ะนะครับว่ามันเป็นยังไง หลายฉากทำให้ผมตื่นเต้น อย่างตอนไล่ยิงกันในวิถีวาร์ฟนั่น หรือตอนยานตกลงกลางเมือง เหล่านี้ถือว่าสดมากสำหรับหนังชุดนี้ครับ
ใน แง่ความสนุกแล้วผมว่าภาคก่อนกับภาคนี้พอกัน ถ้าจะให้ดาวในส่วนนี้ก็คงสามดาวไม่ต่างกัน แต่ถ้าถามว่าชอบภาคไหนมากกว่าก็คงขอเทคะแนนให้ภาคนี้มากกว่าหน่อยนึงครับ
อัน ว่าภาคแรกถือว่าหนังแนะนำตัวละคร วางมาตรฐานและโครงเรื่องสำหรับหนังชุดนี้ ส่วนภาค 2 ถือเป็นการต่อยอด เอาของดีในภาคก่อนมาขยายความ เราจะได้เห็นทุกตัวละครมีพัฒนาการ มีการขับเคลื่อนที่ทั้งการกระทำและความคิด อันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง (หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ ทำให้เกิดเรื่องเกิดราว) และนำมาสู่จุดเด่นที่ทำให้หนังภาคนี้เข้มข้นและได้ใจผมมากขึ้น
ผมเคยนิยามภาคแรกไว้ว่า “คงวิญญาณเดิม เสริมวิญญาณใหม่” ก็เพราะของเก่าก็มีกลิ่นอาย แต่ของใหม่ก็สดอร่อยไม่แพ้กัน มาคราวนี้วิญญาณใหม่เหล่านั้นได้เบ่งบานเติบโต โดยไม่ขัดแย้งกับเวอร์ชั่นเก่า ทำให้เรารู้จักเหล่าลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สบน Timeline ใหม่นี้มากขึ้น
เริ่มจากสป็อก (Zachary Quinto) ที่มีความเข้มข้นทางอารมณ์มากขึ้น ซึ่งหากเอาสป็อกของเก่ามาวัด เราอาจคิดว่าคนเก่าไม่เจ้าอารมณ์ขนาดนี้ แต่หากดูจากสิ่งที่สป็อกคนเก่าและคนใหม่เผชิญก็จะเข้าใจครับ เพราะพวกเขาเจอมาต่างกัน คนเก่านั้นอยู่ในจักรวาลที่ค่อนข้างสงบ (เนื่องจากวิสัยทัศน์ผู้สร้างอย่าง Gene Roddenbery มองว่าโลกอนาคตจะเป็นโลกที่ดี คนเห็นแก่ตัวน้อยลง ทำเพื่อกันและกันมากขึ้น ฯลฯ)
แต่ กับจักรวาลเวอร์ชั่นนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป (เนื่องมาจากการมาของนีโร ตัวร้ายในภาคแรกที่ทำให้จักรวาลสะเทือน) ซึ่งสป็อกนั้นถือว่าเจอความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะการที่ต้องสูญเสียแม่ไปต่อหน้า, ต้องพบว่าเผ่าพันธุ์ตนใกล้สูญพันธุ์, การมีความรักกับอูฮูร่า อันนำมาสู่การทะเลาะ การปรับตัวเข้าหากัน การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึก ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ทำให้สป็อกข้องแวะกับวิถีแห่งอารมณ์มากกว่าวิถีแห่ง ตรรกะ
หากเป็นสมัยก่อนสป็อกจะทำอะไรก็ใช้เหตุผลชั่งตวงวัด แม้เขาต้องตายแต่หากทำเพื่อคนส่วนมากเขาก็ถือว่าสมเหตุผล แต่พออูฮูร่าถามว่า “คิดบ้างไหมว่าถ้าคุณตายแล้วฉันจะเป็นยังไง” สป็อกจึงได้ฉุกคิด ทำให้ฝั่งเหตุผลแบบวัลแคนและฝั่งอารมณ์แบบมนุษย์เกิดการพิพาทขึ้นในหัวเขา…
ตายเพื่อคนนับพัน กับ อยู่เพื่อใครสักคน… อะไรกันแน่ที่ถือว่าถูกต้อง?
ในแง่ของตรรกะ จำนวนคนยิ่งมากยิ่งนับว่ามีความสำคัญ แต่สำหรับอารมณ์คนในห้วงรักนั้น จำนวนคนจะมากแค่ไหนก็ไม่มีความหมายเท่า “คนที่ตนรักเพียงผู้เดียว”
เรื่อง ว่าด้วยความอารมณ์นี้สป็อกเองก็เคยเผชิญ ในภาคแรกตอนที่เขาไม่สามารถช่วยแม่ได้ ทั้งที่ในยามนั้นเขาช่วยผู้เฒ่าแห่งวัลแคนรอดชีวิตมาตั้งมากมาย อันที่จริงหากนับจากจำนวนคนที่รอด สป็อกน่าจะสรุปตรรกะได้ว่า “นั่นคือความสำเร็จ” แต่ในใจเขากลับปวดร้าว เกิดบาดแผล จนเขาระเบิดอารมณ์ออกมาเมื่อเคิร์กสะกิดใจเข้า
ยิ่งไปกว่านั้นในภาคนี้สป็อกยังได้รับรู้อารมณ์ตอนตายของกัปตันไพค์ (Bruce Greenwood) ได้เข้าใจความเจ็บปวด อ้างว้าง ความกลัว ความหวั่นไหว และความห่วงหา นั่นก็ยิ่งสั่นคลอนอารมณ์ของเขา กระตุ้น “เลือดมนุษย์” ในตัวเองให้ออกมามีผลต่อการคิดมากขึ้น
จึงยิ่งสมเหตุผลมากที่สป็อกคนนี้จะมีสภาวะอารมณ์รุนแรงแบบเห็นได้ชัดในตอนท้ายของเรื่อง
อูฮูร่า (Zoe Saldana) ก็เป็นอีกคนครับที่เปลี่ยน จากฉบับเดิมที่เธอจะเป็นคนร่าเริง ชอบร้องเพลง และเคารพกัปตันเคิร์กในฐานะผู้นำ แต่เพราะเหตุการณ์หลายอย่างเปลี่ยนไป (เช่น โดนเคิร์กดอดมาหลีแต่เริ่ม และรักแบบหวานชัดเจนกับสป็อก) อูฮูร่าฉบับใหม่เลยออกแนวตรงๆ ห้าวๆ จุดต่างที่ชัดเจนคือตอนที่เธอกล้าลงไปเจรจากับพวกคลิงออน และยังพูดคลิงออนได้ดี ในขณะที่อูฮูร่าฉบับเดิมจะไม่คล่องคลิงออนและไม่อาจหาญขนาดนี้
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปลี่ยนครับ อย่างหมอแม็คคอย (Karl Urban) ที่ยังบ่นตลอดศกและมีคำพูดติดปากอย่าง “ผมเป็นหมอนะ ไม่ใช่…” ตรงจุดๆๆ นั้นแล้วแต่ละเติมครับ แต่แกบ่นทุกเวลาทั้งยามดีและยามร้าย , สก็อตตี้ (Simon Pegg) ก็ดู Alert ตลอด แต่ก็ถือว่าฮากว่าฉบับเดิม หรือซูลู (John Cho) ที่ยังคงนิ่ง คุมสติตนเองได้ตลอด (ซึ่งถือเป็นโชคดีมากครับเพราะเขาเป็นต้นหนคนนำยาน หากสติไม่นิ่งพอล่ะมีหวังยานพังไปหลายรอบแน่นอน) และที่ผมชอบอีกอย่างคือการกำหนดบทให้ซูลูมีโอกาสได้นั่งเก้าอี้กัปตัน ก่อนหนังจบพี่แกก็ยังแอบเหลือบเหมือนสนใจในเก้าอี้ตัวนี้ ซึ่งถือว่าเข้ากับเรื่องฉบับเดิมที่ซูลูคือลูกยานคนแรกที่ได้เป็นกัปตันและ มียานของตนเอง (เขาเป็นกัปตันยานยูเอสเอส เอ็กเซลซิเออร์ ใน Star Trek VI ครับ)
และอีกคนที่ผมชอบเป็นพิเศษคือเชคอฟครับ (Anton Yelchin) นอกจากชอบการแสดงของ Yelchin แล้ว บทเชคอฟในภาคนี้ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งยืนยันว่าทีมเขียนบทใส่ใจรายละเอียดมากจริงๆ
คือ อย่างนี้ครับ ตามเรื่องในฉบับดั้งเดิมนั้น ตอนที่เคิร์กตีกับข่านรอบแรกสุด เชคอฟยังไม่ได้เป็นลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สเลย (ข่านตีกับเคิร์กตอนท้ายของ Season 1 ครับ ส่วนเชคอฟมาขึ้นยานตอน Season 2) นั่นจึงทำให้เชคอฟเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เจอกับข่าน ดังนั้นพอฉบับนี้ทีมเขียนบทจงใจโยกเชคอฟให้ไปอุดอู้อยู่ในห้องเครื่อง ไม่มีโอกาสได้เห็น ได้พบ หรือได้เผชิญหน้ากับข่านโดยตรง ซึ่ง Orci และ Kurtzman ตั้งใจรักษาประเด็นนี้ไว้ให้ใกล้เคียงกับ Timeline เดิม (จนอดคิดไม่ได้ว่าพวกพี่เขาจงใจรักษาส่วนนี้ไว้เพื่อปมบางอย่างในอนาคตหรือ เปล่ากันแน่?)
และมุขวงในที่ผมแอบฮาหนักๆ คือตอนที่เคิร์กเดินมาบอกให้เชคอฟรับหน้าที่ต้นกลและสวมชุดแดงซะ ถ้าสังเกตนาทีนั้นหน้าเชคอฟจะดูอึ้ง เป๋อเหรอ ตกตะลึง เพราะเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งในหนัง Star Trek ครับว่าตัวละครที่สวมชุดสีแดงแล้วโดนมอบหมายให้ไปปฏิบัติการอะไรสักอย่าง มักต้องตาย ด้วยเหตุนี้เชคอฟแกเลยทำหน้าออกอาการ “เหอ… เอาจริงดิ” 5555
และที่ลืมไม่ได้คือ เคิร์ก ใช่ครับ ถ้าผมเก็บไว้พูดถึงแกหลังสุดนั่นย่อมแสดงว่า มีเรื่องต้องพูดกันยาว!
สิ่งหนึ่งที่ผมชอบอย่างหนึ่งใน Star Trek ฉบับ ใหม่นี้คือการทำให้บทกัปตันเคิร์กมีสีสันมากขึ้น มีอารมณ์ความรู้สึก ทั้งโกรธ ดีใจ ผยอง และตระหนก บางครั้งก็ทำสำเร็จแต่ก็มีวาระที่ทำพลาดได้ ไม่ได้เป็นฮีโร่โมโนโทนเกินจริงจนเกินไป ซึ่งกัปตันเคิร์กสมัย William Shatner นั้นก็ยังมีคนไม่ปลื้มโดยเฉพาะความเก่งที่เทพเกินไป ไม่ค่อยตกที่นั่งลำบาก หรือสีหน้าท่าทางดูไม่ตื่นเต้นกับอะไรมากไปนิด
จำได้ว่าครั้งหนึ่งถึงกับมีคนจัดอันดับให้บทกัปตันเคิร์กเป็นบทที่แบนราบเกินไปติด Top 10 เลยก็มีครับ สมัยนั้นยังคงบ่นกับเพื่อนว่า “มาจัดอันดับแบบนี้กับฮีโร่ในดวงใจเราได้ไงฟะ” แต่พอโตขึ้น ลองทำใจเป็นกลาง ก็พอเข้าใจว่าทำไมถึงมีคนรู้สึกแบบนั้น
แต่ กับเคิร์กภาคใหม่นี้ เราจะได้เห็นมุมอันหลากหลายของเขาครับ ทั้งโกรธเกรี้ยวกร้าวร้าว ไปถึงกลัวจนหน้าซีด ซึ่งฉากที่เคิร์กออกอาการกลัวจนลนลาน เอ่ยปากขอร้องกับนายพลมาร์คัสนั้นเป็นอะไรที่ได้ใจผมมากๆ ครับ เพราะนาทีนั้นเคิร์กผู้หยิ่งผยองบ้าระห่ำได้หายไป เหลือเพียงกัปตันคนหนึ่งที่รู้ว่าตนเองกำลังจะพาลูกยานมาตาย และเขาไม่รู้จะทำยังไงเพื่อช่วยชีวิตเหล่าลูกยานที่เชื่อในตัวเขา
ฉากที่ว่านี่ยอมรับว่า “อิน” และเห็นใจเคิร์กมากๆ ครับ Pine สามารถสื่ออารมณ์ในแต่ละช่วงออกมาได้ถึง จุดเด่นอีกอย่างที่ผมชอบคือการไล่ระดับอารมณ์ของเคิร์กครับ จากอารมณ์ปกติ (ที่ค่อนข้างอีโก้จัด หยิ่งผยอง และเห็นความคิดตนเป็นศูนย์กลางจักรวาล) ไปสู่โกรธ จากโกรธไปสู่สงสัย จากสงสัยไปสู่กลัว จากกลัวไปสู่ความสิ้นหวัง จากสิ้นหวังไปสู่การสำนึกผิดและต่อด้วยการหาทางไถ่โทษที่ตนกระทำลงไป… เหล่านี้ Pine ถ่ายทอดออกมาได้ดี อาจไม่ถึงขั้นไร้ที่ตินะครับ แต่อย่างน้อยเขาก็ทำให้ผมใจวูบไปพร้อมๆ กับเคิร์กได้ในฉากไคลแม็กซ์สำคัญ
ภาคนี้ถือเป็นการต่อยอด “ความเป็นเคิร์กคนใหม่” ที่เรารู้ดีว่าเขาเป็นจอมแหกกฎ พร้อมทำอะไรก็ได้ที่ตนเห็นควร (แม้ว่าจะมีคนค้านหรือมันอาจเสี่ยงก็ตาม) ซึ่งในการผจญภัยครั้งแรกนั้น สิ่งที่เคิร์กทำทุกอย่างมันผ่านฉลุย แทบจะบอกว่าถ้าเคิร์กไม่ทำตามสัญชาตญาณทุกคนก็คงตายด้วยน้ำมือนีโรกันไปหมด แล้ว
แต่ประเด็นก็คือชีวิตมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกครับ ความสำเร็จหนึ่งครั้งไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะไม่มีวันพลาด ชุดความคิดวิเคราะห์ที่เคยให้ผลลัพธ์ที่สวยงามมาหนึ่งครั้งก็อาจไม่สามารถ ใช้กับสถานการณ์อื่นๆ ที่ต่างออกไปได้ นั่นทำให้เราต้องไม่ประมาท ไม่ทะนงว่าสิ่งที่เราคิดจะถูกต้องเสมอไป เราต้องพร้อมยืดหยุ่นตั้งรับเหตุที่ไม่คาดฝัน หากเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตัวเราก็ยังไม่เข้าใจ สิ่งที่ควรทำคือมีสติ เปิดตามองสังเกตให้รอบ และเปิดหูฟังความเห็นจากคนรอบตัว ใช้สิ่งเหล่านี้ประมวลค้นหาคำตอบที่ถูกต้องสำหรับโจทย์แต่ละข้อที่ต่างกัน ออกไป
นั่นคือสิ่งที่กัปตันคริสโตเฟอร์ ไพค์ (Bruce Greenwood) พยายามจะสอนเคิร์กครับ สอนความหมายของการเป็นผู้นำที่ดี
ไพค์บอกเสมอว่าเคิร์กมีความยิ่งใหญ่อยู่ในตนเอง ว่าง่ายๆ คือมีดีนั่นแหละครับ เขามีทั้งความกล้า มีสมอง ชอบคิดนอกกรอบไม่ตามใคร และทว่าการจะเป็นผู้นำนั้นจะไม่สามารถราบรื่นได้ หากผู้นำผู้นั้นยึดเพียงสิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางในการปกครองดูแลคน
ไพค์พยายามบอกเคิร์กให้รู้จัก “ถ่อมตน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้ยกมือไหว้ใครหรือบูชาระบบอาวุโส แต่ “ถ่อมตน” ตรงนี้หมายถึง “ความตระหนักอยู่เสมอ ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ตนยังไม่รู้และไม่เข้าใจ”
เหมือนคำกล่าวของโสเครติสที่ว่า “I Know That I Know Nothing” ฉันรู้ว่าฉันนั้นไม่รู้อะไรเลย
จุดเด่นของเคิร์กคือกล้าคิดกล้าทำ แต่สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นจุดอ่อนทันทีหากเขา “กล้าคิดแล้วกล้าทำ โดยไม่ตรวจสอบว่าที่คิดนั้นถูกไหม ที่ทำนั้นจะให้ผลดีแน่ไหม และฉันทำไปโดยรู้และเข้าใจทุกสิ่งอย่างแท้จริงไหม?”
อย่าง สถานการณ์ในภาคนี้ ใครดูจบแล้วย่อมเข้าใจว่าเคิร์กนั้นใช้อารมณ์เป็นตัวเดินเครื่อง ใช้สัญชาตญาณเป็นสิ่งนำร่อง ทั้งที่ตัวเขาเองก็ยังไม่เข้าใจสถานการณ์นั้นดี มีสิ่งที่เขา “ไม่รู้” มากมายซ่อนเร้นอยู่ และเขาก็เกือบจะพาลูกยานทั้งลำไปตาย โดยมี “สิ่งที่เขาไม่รู้” เป็นฆาตกร
อัน ที่จริงแล้วเราจะเห็นว่าเพื่อนของเคิร์กทุกคนพยายามบอกเขาว่า มันมีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากล อย่างสก็อตตี้ก็พยายามชี้ประเด็นเรื่องตอร์ปิโด 72 ลูกที่ถูกขนขึ้นมาอย่างน่าสงสัย, สป็อกพยายามเตือนเคิร์กไม่รู้กี่หนในทุกเรื่องที่เขาทำ, แม็คคอยก็พยายามบอกให้เคิร์กใจเย็น อย่าผลีผลาม หรืออูฮูร่าเองก็ยังเตือนสติเคิร์กให้ลืมตาดูปัจจุบัน ตอนโดนพวกคลิงออนล้อมกรอบบนดาวโครโนส
เมื่อเคิร์กดื้อดึงเอาแต่อารมณ์ เรื่องเลยกลายเป็นอันตรายถึงชีวิต… ตอนนั้นเคิร์กตระหนักว่าตนเอง “ไม่สามารถโกงข้อสอบโคบายาชิมารุในชีวิตจริงได้”
ตอนต้นเรื่องกัปตันไพค์เคยกล่าวประชดเคิร์กว่า “กฎมีไว้สำหรับคนอื่น แต่ไม่ใช่กับเจมส์ ที เคิร์กงั้นหรือ?”
กรอบ กฎ กติกา เราอาจมองว่ามันคือ ข้อบังคับที่น่าเบื่อหรือเป็นระเบียบปฏิบัติอันคร่ำครึ ตกยุคตกสมัยไปนานแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งมันก็คือตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเสนอแนะและความเห็นอื่นๆ”
ใช่ครับ กรอบ กฎ กติกาคืออะไรก็ตามที่คนอื่นเขาตั้งขึ้น เขาสร้างขึ้น มันก็เหมือนชุดความเห็นอีกชุดที่มีคนมาบอกเราว่า “ทำแบบนี้ดีไหม ทำแบบนี้ดูสิ” ซึ่งเราสามารถจะเลือกได้ว่าจะทำตามหรือไม่ แต่ก่อนการเลือกนั้นเราควร “คิด ใคร่ครวญ ประเมิน ค้นหาความหมาย และทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้” เสียก่อน
มันมีความแตกต่างกันมากครับ ระหว่าง
1. เลือกจะไม่ทำตามกฎเพราะเราคิดแล้ว วิเคราะห์แล้ว ประมวลรอบด้านแล้ว ทำความเข้าใจแล้ว จนได้ข้อสรุปว่า “มันไม่น่าเหมาะกับเรานะ มันน่าจะมีทางอื่นที่ดีกว่านี้นะ” กับ
2. เลือกจะไม่ทำตามกฎ โดยยังไม่มองให้รอบด้าน ไม่เข้าใจเหตุผล คุณค่า และความหมายของกรอบ กฎ หรือกติกานั้นๆ อย่างแท้จริง
สิ่ง ที่ไพค์พยายามสอนเคิร์ก ไม่ใช่ให้เคิร์กห้ามแหกกฎ ห้ามฝืนกติกา แต่อยากให้เคิร์กเข้าใจคุณค่าของกฎต่างๆ ที่เป็นเหมือนคำเตือน คำแนะนำจากคนรุ่นก่อน
กฎก็เหมือนทุกสิ่งในโลกน่ะครับ หากเยอะไปมันก็อึดอัด หากมันเป็นข้อบังคับเข้มข้นเกินไปจนจำกัดอิสระก็เท่ากับกัดกร่อนเสรีภาพ ลดความเป็นตัวเองของเราลง
แต่หากเราใช้กฎอย่างพอดี (หรือมีใครสักคนชี้ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้กฎอย่างเหมาะสม) มันก็จะกลายเป็นการฝึกให้เรารู้จักเปิดใจ หัดเปิดรับ กล่าวคือหากจะปลูกฝังให้เด็กรู้จักรับฟังคนอื่นมากขึ้น ก็ต้องให้เขารู้จักกฎ กติกา หรือข้อบังคับในมุมสร้างสรรค์ ไม่ใช่เอาแต่ใช้กฎให้กลายเป็น “กด” หรือใช้กฎบังคับปาวๆ โดยที่ผู้ถือกฎเองก็ยังบอกไม่ได้ว่ากฎนั้นสำคัญอย่างไร มีประโยชน์ยังไง มีไว้เพื่ออะไร ถ้าไม่มีจะส่งผลยังไง ฯลฯ
ดังนั้นคำว่า “ถ่อมตน” ที่ไพค์กล่าว ก็คือหมายมั่นให้เคิร์กน้อมรับฟังความเห็นอื่น เปิดใจเพื่อเข้าใจผู้อื่น อย่าใช้แต่ตนเป็นบรรทัดฐานเพียงอย่างเดียว อีกทั้งอย่ามองอะไรเพียงมุมเดียว เช่น อะไรที่ดูน่าเบื่อ (อย่างกฎ กติกา) ก็อาจมีคุณค่ามอบให้เราได้ หากเราเปิดใจมากพอ หรืออะไรที่ดูราบรื่น ดูโล่งดีก็อาจต้องระวัง เพราะมันอาจมีคลื่นใต้น้ำก่อตัว รอม้วนเราลงมหาสมุทรอันสุดดำมืดก็ได้
และหากเรามองย้อนมองดีๆ หากจะบอกว่าคราวก่อนเคิร์กคือผู้นำ คือฮีโร่เพียงคนเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะจริงๆ ความสำเร็จในภาคที่แล้ว เกิดเพราะ “ทุกคนฟังกันและกัน และร่วมมือกันเป็นทีม”
สป็อก ฟังเคิร์ก, เคิร์กฟังสป็อก, ทุกคนฟังเชคอฟ, สป็อกฟังหมอแม็คคอย, อูฮูร่าฟังเคิร์ก, กัปตันไพค์ฟังลูกยาน ฯลฯ… เห็นไหมครับ ฟังเต็มไปหมด
ตาม ด้วยการร่วมมือที่ทุกคนทำหน้าที่แต่ละฝ่ายอย่างเต็มที่ เคิร์กก็นำทีม วางแผน ลงมือ, สป็อกประสานงานกับเคิร์ก, แม็คคอยช่วยดูแลลูกยาน, อูฮูร่าคอยสื่อสาร, ซูลูกับเชคอฟช่วยกันคุมยานและยิงอาวุธ, สก็อตตี้วิ่งพล่านคุมห้องเครื่อง และลูกยานแต่ละรายก็ช่วยกันทั้งลำ… ในที่สุดนีโรก็โดนโค่น
ส่วนภาคนี้หายนะเกิดต่อเนื่อง หลังจากเคิร์กดันทุรังไม่ฟังใคร แล้วยังหน้าที่ที่ไม่ถนัดให้ลูกยาน (เช่น เชคอฟกลายเป็นต้นกล)
แต่ยังดีที่เคิร์กยอมรับในการก้าวเดินที่พลาดผิด ซึ่งผมชอบตอนที่เขาบอกกับสป็อกว่า “สิ่ง ที่ผมทำมันไม่เข้าท่า ไม่มีเหตุผล ใช้สัญชาตญาณล้วนๆ… ผมไม่รู้ว่าควรต้องทำยังไง รู้แค่ว่าผมทำอะไรได้… เอ็นเตอร์ไพร์สและลูกยานต้องการกัปตันที่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งไม่ใช่ผม แต่เป็นคุณต่างหาก สป็อก”
นาทีนั้นเคิร์กรู้ ซึ้งว่าเก้าอี้กัปตันนั้นไม่ใช่แค่หย่อนก้นแล้วจะเป็นกัปตันได้ มันมีอะไรอีกหลายอย่างที่เขายังต้องเรียนรู้ ยังต้องทำความเข้าใจ… เคิร์กกลายเป็นกัปตันที่แท้จริง ในวินาทีนั้นเอง
พอพูดถึงตรงนี้ผมก็นึกถึงตอน End Credits ของหนังครับ ใช่ครับ เขาทำสวยงามดูเพลินจริงๆ แต่ผมสังเกตเห็นตอนที่ชื่อ Chris Pine ขึ้นในเครดิตนั้น ภาพฉากหลังชื่อมันจับอยู่ตรงดาวที่ระอุไปด้วยเพลิง แต่เป็นเพลิงที่ให้ความรู้สึกว่ามันเย็น (แบบที่เคิร์กเป็น)
เมื่อเรามองย้อนไปในหนัง จะพบว่าเรื่องราวต่างๆ มันเกิดขึ้นเพราะการขับเคลื่อนของ “ผู้นำ 3 คน” ที่มีลักษณะคล้ายกัน คนหนึ่งคือเคิร์ก คนหนึ่งคือข่าน และคนหนึ่งคือนายพลมาร์คัส (Peter Weller)
ทั้ง 3 มีความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น ตั้งใจทำในสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้อง แน่นอนครับว่าพวกเขาไม่ฟังใคร พวกเขาตัดสินใจทำแม้จะมีความเสี่ยงว่าจะเกิดอันตรายกับคนอื่นๆ แต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พวกเขาก็ตัดสินใจเดินหน้าไม่หยุดยั้ง
เคิร์ กนับว่าเป็นผู้นำที่โชคดีที่สุด เพราะมีไพค์พยายามแนะนำเตือนสติ อีกทั้งผองเพื่อนคอยช่วยเหลือ (ทั้งช่วยเตือนและช่วยทำ) จนทำให้เขาได้เห็นบทเรียนสำคัญจากผู้นำอีก 2 คน
ทั้งนายพลมาร์คัสและ ข่านต่างก็มีเป้าหมายให้พิชิต และพวกเขาก็ตัดสินใจทำโดยมองว่าการเสียชีวิตหรือความเสียหายคือเรื่องปกติ มันต้องมีกันบ้างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ชวนให้นึกถึงคำพูดของสป็อกที่ว่า “ความจำเป็นของคนหมู่มากสำคัญมากกว่าความจำเป็นของคนๆ เดียว” ซึ่งประโยคอมตะนี้สป็อกฉบับเดิมก็เคยพูดไว้ในภาค The Wrath of Khan
มอง เผินๆ เราอาจเห็นว่ามาร์คัสและข่านทำเพื่อคนหมู่มาก (เพราะอ้างคนหมู่มากทั้งคู่) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วส่วนผสมในใจมันมีความต้องการของตนเองมากกว่า และแม้จะบอกว่าทำเพื่อคนหมู่มากอย่างไร แต่ถ้าถามว่าคนหมู่มากนั้นเห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้ไหม ก็คงยากจะตอบได้เต็มปาก เพราะคนบนโลกส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ต้องการสงครามแบบที่นายพลมาร์คัสต้องการ ส่วนคนของข่านก็หลับใหล ไม่ได้ออกเสียงลงคะแนนแต่อย่างใด
จึงเป็น กรณีที่สะท้อนความจริงในโลกได้ครับ ว่าผู้นำไม่ใช่น้อยที่อ้างคนหมู่มาก ลากไปอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่บางทีคนหมู่มากนั้นต้องการอะไรที่ต่างจากปากคำของผู้นำไปคนละเรื่อง
จะ ว่าไปก็น่าเห็นใจทั้งนายพลมาร์คัสและข่านครับ เขาพยายามทำสิ่งที่ (ตัวเอง) เชื่อมั่นว่าถูกต้อง แต่จนแล้วจนรอดผมก็เห็นใจลูกยานมากมายที่ต้องมาตายไปเพราะการตัดสินใจของคน คู่นี้
สำหรับนายพลมาร์คัสและข่าน นั่นอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะไตร่ตรองออกมาได้… แต่มันก็อาจมีวิธีที่ดีกว่า หากพวกเขาเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ได้ร่วมไตร่ตรองกันอีกสักนิด
“โลก” หมุนได้ คงอยูได้ในจักรวาล ไม่ใช่เพราะ “โลก” อย่างเดียวเพียงลำพัง แต่มันเป็นเพราะมีแรงระหว่าง “โลก” กับดาวอื่นๆ ในระบบสุริยะ
หาก “โลก” เอาแต่ใจ จะหมุนแบบไหนก็เรื่องของฉัน จะลอยไปไหนก็ตามใจฉัน “โลก” จะยังดำรงได้นานสักแค่ไหน และที่สำคัญคือดาวอื่นๆ ในระบบจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ดูเหมือนว่า “โลก” กับ “คน” จะมีกฎบางประการที่ดูสอดคล้องกัน
… ถ้าเป็นหนังธรรมดา ผมคงยกตัวอย่างธรรมดา แต่นี่เป็น Star Trek ก็ขอเอาดวงดาวประกอบสักหน่อย ให้พอเข้าบรรยากาศ
อีกจุดที่ประทับใจเป็นพิเศษคือบทดร. แครอล มาร์คัสครับ ประทับใจเพราะสวย เอ้ย ไม่ช่าย 555 ที่ประทับใจเพราะบทเยอะกำลังเหมาะครับ อันนี้ถ้าคุณเคยดู Star Trek มา ก่อนย่อมทราบดีว่าบทนี้มีความสำคัญต่อเคิร์กแค่ไหน ซึ่งบทหนังภาคนี้ก็เปิดโอกาสให้เธอมีมากกว่าความสวยครับ เธอฉลาด มีความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้นำอีกต่างหาก จนบอกได้เต็มปากว่าความสำเร็จในศึกรบกับข่านครั้งนี้ก็มีเธอเป็นส่วนช่วยที่ สำคัญมากอีกแรง
ขอชื่นชม Alice Eve ครับ แสดงบทนี้ได้น่ารัก สวยและฉลาดจนผมแอบยินดีมากๆ หากเธอกับเคิร์กจะลงเอยกัน ดูเป็นคู่ที่เหมาะมาก (นี่ถ้าภาคต่อไปเขียนบทให้ไทม์ไลน์ส่วนนี้เปลี่ยนล่ะก็มีเคืองนะครับบอกให้ 55)
นักแสดงดีทุกคน ดนตรีประกอบโดย Michael Giacchino ก็เสนาะหูเช่นเดิม พี่ J.J. แกเอาอยู่จริงๆ ครับ คุมหนังให้ครบเครื่องสำหรับหนัง Star Trek และ ดูสนุกได้ไม่ยาก ไม่ว่าคุณจะคุ้นกับเรื่องราวของเหล่าลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สมาก่อนหรือไม่ก็ ตาม แต่หากคุณคุ้นล่ะก็จะช่วยให้รสชาติหนังอร่อยหนักขึ้นไปอีก
“ฟิน” ครับ บอกได้คำเดียวว่า “ฟิน” มากสำหรับหนังเรื่องนี้ แต่ก็ยอมรับว่าอดกังวลไม่ได้ว่าผู้กำกับคนต่อไปที่จะมากุมบังเหียนหนัง เรื่องนี้จะสามารถทำได้ในระดับเดียวกับที่พี่ J.J. แกทำไว้หรือเปล่า คือถ้าเป็นพี่ Rupert Wyatt มาทำจริงๆ ก็พอจะโล่งใจได้
แต่ที่ดีใจที่สุดก็คือ ได้รู้ได้เห็นว่า Star Trek ยังมีลมหายใจ แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 50 ปี
ดีใจที่ความฝันและการสร้างสรรค์ของ Gene Roddenberry ยังคงส่งต่อซึ่งจินตนาการ ซึ่งสีสันของเรื่องราวและตัวละคร อีกทั้งแง่คิดสะท้อนความเป็นมนุษย์ เรียกว่าเป็นการสำรวจอวกาศไปพร้อมๆ กับค้นหาความหมายของการเป็นมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน
สามดาวสามส่วนสี่ดวงครับ(8.5/10)