Action

Star Trek III: The Search for Spock (1984) สตาร์ เทร็ค 3 ตอน ค้นหาสป็อคมนุษย์มหัศจรรย์

1367830485

ชะตากรรมการสร้างหนัง Star Trek กว่าจะได้สร้างมาถึงภาค 3 นี่ก็มีวิบากและมีอะไรให้ลุ้นอยู่เยอะครับ กว่าหนังชุดนี้จะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นหนังภาคต่อที่ทรงคุณค่าก็ทำเอาทีม งานเหนื่อยแล้วเหนื่อยอีกไปหลายรอบ แต่พอทุกอย่างลงตัว อะไรๆ ก็ดูจะง่ายขึ้นมากครับ เพราะ Star Trek ภาค 3 นี่ได้รับอนุมัติให้ไฟเขียวตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ Star Trek II: The Wrath of Khan เลยทีเดียว (ซึ่งแน่นอนว่าเหตุผลสำคัญก็คือ หนังทำเงินเปิดตัวสูงสุดแบบทุบสถิตินั่นเอง)

Harve Bennett เล่าว่าเพียง 3 วันหลัง Star Trek 2 ฉาย เขาก็ได้รับโทรศัพท์จาก Michael Eisner โต้โผ Paramount ว่าให้เขารีบเขียนบท Star Trek 3 ได้ทันที ซึ่งก็เข้าทางล่ะครับเพราะเขากับ Leonard Nimoy ได้ตกลงกันอย่างลับๆ ตั้งแต่คราวก่อน พวกเขาได้ปูทางให้สป็อกกลับมาก่อนที่จะถ่ายทำภาค 2 เสร็จด้วยซ้ำ Bennett เลยไม่มีปัญหาในการคิดพล็อตต่อเรื่องครับ ทีนี้ทางสตูดิโอก็ติดต่อไปยัง Nimoy เพื่อขอให้เขากลับมาแสดงเป็นสป็อกอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนก็ห่วงอยู่ครับ เพราะทุกคนเข้าใจว่า Nimoy เกลียดการเป็นสป็อก ไม่อยากกลับมาแสดงเป็นสป็อกอีก (ผมเองก็ยังเคยเข้าใจอย่างนั้นเหมือนกันครับ)

แต่ Nimoy ก็เฉลยว่าเขาไม่เคยเกลียดสป็อก จริงๆ คือเขาชอบและรักบทนี้มากๆ เพียงแต่มันก็ต้องมีเวลาอยากพักจากบทนี้บ้างเป็นของธรรมดา แต่ตอนนี้เขารู้สึกสนุก (จริงๆ คือสนุกตั้งแต่ตอนทำภาค 2 แล้วน่ะครับ) เขาจึงไม่มีปัญหากับการกลับมาแสดงเป็นสป็อก แต่กระนั้นเขาก็มีข้อแม้แค่ข้อเดียวเท่านั้นคือต้องให้เขากำกับ Star Trek 3 นะ ซึ่งทางสตูดิโอก็ตอบตกลงทันทีครับ ยอมทำทุกอย่าง อะไรก็ได้ให้ Nimoy ยินดีกลับมา

1367902611

การถ่ายทำภาคนี้เป็นไปอย่างราบรื่นครับ จนผมแทบไม่มีอะไรบอกเล่าเท่าภาคก่อนๆ ที่กว่าจะได้เริ่มถ่ายทำนั้นต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก แต่ภับภาคนี้ผู้กำกับก็มี คนเขียนบทก็พร้อม ดาราก็ไม่มีใครเกี่ยงสักคน

บทถูกเขียนโดย Bennett และ Nimoy มาทำหน้าที่กำกับ โดยเนื้อเรื่องในภาคนี้ก็สานต่อจากตอนจบภาค 2 ครับ หลังจากสป็อกได้สละชีวิตตนเพื่อช่วยยานเอาไว้ให้รอดพ้นจากการระเบิดครั้ง ใหญ่ ทุกคนต่างก็พากันคิดว่าสป็อกได้จากไปตลอดกาล ซึ่งคนที่เศร้าที่สุดก็ไม่ใช่ใครครับ ก็คือ กัปตันเจมส์ ที. เคิร์ก (William Shatner) เพื่อนผู้เป็นดั่งพี่น้องของสป็อก ในขณะที่หมอแม็คคอย (DeForest Kelley) ก็ดูแปลก ออกแนวป้ำๆ เป๋อๆ ไปเลยหลังการตายของสป็อกในวันนั้น

แล้วอยู่มาวันหนึ่งซาเร็ก (Mark Lenard) พ่อของสป็อกก็ได้เดินทางมาหาเคิร์ก พร้อมเผยความลับว่าแท้จริงแล้วสป็อกสามารถคืนชีพได้อีก ขอเพียงเคิร์กนำร่างของสป็อกมา แล้วผสานเข้ากับ “คาตร้า” จิตวิญญาณที่สป็อกได้ฝากเอาไว้ในร่างของหมอแม็คคอย (นี่จึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมคุณหมอถึงได้ดูแปลกๆ ไป)

เมื่อทราบดังนั้นเคิร์กกับลูกยานทั้ง 4 อันประกอบไปด้วยหมอแม็คคอย, ซูลู (George Takei), เชคอฟ (Walter Koenig) และสก็อตตี้ (James Doohan) จึงต้องรีบเดินทางไปยังดาวเจเนซิสที่ซึ่งตอนนี้ ซาวิค (Robin Curtis) และ เดวิด (Merritt Butrick) ลูกชายของเคิร์ก ก็กำลังปฏิบัติการร่วมกับยาน ยู.เอส.เอส กริสซั่ม เพื่อสำรวจดาวอยู่

แต่ การจะเดินทางไปก็ไม่ง่ายครับ เพราะทางสหพันธ์ได้สั่งปลดประจำการยานเอ็นเตอร์ไพร์สแล้ว ทำให้เคิร์กและพรรคพวกต้องขโมยมันแล้วบินหนีไปให้ถึงเจเนซิส มิหนำซ้ำ ณ ดาวเจเนซิสนั้นก็ยังมีเหล่านักรบชาวคลิงออนจำนวนหนึ่ง นำโดยนายพลครูจ (Christopher Lloyd) ที่กำลังซุ่มรอโจมตีเพื่อช่วงชิงวิทยาการของเจเนซิสไปเหมือนกัน

1367902635

นับเป็นภาคแรกของหนังใหญ่ครับที่กัปตันเคิร์กต้องปะทะกับคลิงออน พร้อมกับเผชิญยานนกต่อ (The Bird of Prey) ยานล่องหนได้ที่แสนร้ายกาจของพวกคลิงออน (ซึ่งเราจะได้เจออีกหลายภาคมากนับจากนี้) และยังเป็นการเปิดตัวยูเอสเอส เอ็กเซลซิเออร์ (USS Excelsior) ยานสำรวจอวกาศลำใหม่ของสหพันธ์ที่มีหน้าที่รับช่วงต่อจากเอ็นเตอร์ไพรส์

พระเอกอย่างหนึ่งของภาคนี้คืองานด้านภาพและ Effect เยี่ยมๆ จากฝีมือของ ILM ครับ ทำได้สวยงาม อลังการ และดูเข้ากับสไตล์หนัง Star Trek จริงๆ ไม่ว่าจะสถานีอวกาศตอนต้นเรื่องที่ใส่รายละเอียดได้ดี หรือดาวเจเนซิสที่กำลังล่มสลาย ฟ้าเป็นสีแดงราวเลือด พื้นแตก ควันพวยพุ่ง ลาวาทะลัก อะไรเหล่านี้ทำได้เนียนครับ สวยและน่ากลัวไปในเวลาเดียวกัน ยอมรับเลยครับว่าพวกฉากหลังของดาวต่างๆ ในหนังทำออกมาได้ดี น่าสนใจ เหมาะกับเป็นหนังท่องอวกาศจริงๆ และเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้หนังชวนติดตามในระดับหนึ่ง

ดาราในเรื่องก็ขนทีมเดิมมาครบ โดย Shatner ในภาคนี้ก็มีโอกาสได้แสดงอารมณ์หลากหลายอยู่ครับ แต่ก็ต้องขอยอมรับแบบตรงๆ ว่างานด้านการแสดงอารมณ์ของเขานั้นอาจยังไม่ลงตัวเต็มที่ ทว่าสำหรับแฟน Trek แล้ว แค่เขากลับมาสวมชุดกัปตันอีกรอบเราก็ยินดีแล้วล่ะครับ

ในขณะที่ Kelley ดูจะเด่นกว่าในการแสดงอารมณ์สับสน คลุ้มคลั่ง อย่างตอนที่เขารำพันกับสป็อกในตอนท้ายนั่นก็เป็นฉากที่น่าจดจำฉากหนึ่งครับ หลังจากเขากับสป็อกงับกันมานานเพราะมักจะมองคนละมุม แต่จริงๆ แล้วทั้งคู่มีความนับถือและสนิทต่อกันอย่างยิ่ง

ส่วนคนอื่นๆ อย่าง Takei และ Koenig ก็ยังบทไม่มากครับ แม้จะมีวาระได้พูดคำฮาๆ ออกมาก็ตาม ไม่เหมือน Doohan ในบทสก็อตตี้ที่ดูจะมีสีสันมากกว่า ส่วน Nichelle Nichols เจ้าของบทอูฮูร่านั้นก็มีบทแค่ตอนต้นกับตอนท้ายครับ แต่ไปๆ มาๆ ผมว่าเธอยังดูเด่นใช้ได้อยู่ และยังเป็นกำลังสำคัญของทีม หากไม่มีเธอล่ะก็พวกเคิร์กอาจทำงานยากกว่านี้ก็ได้

และ Nimoy ก็มาโผล่อีกทีตอนท้าย ซึ่งขานี้เกิดมาเพื่อเป็นสป็อกอยู่แล้วครับ ระหว่างนั้นก็ทำหน้าที่กำกับไป ซึ่งผมว่าเขาก็ทำหน้าที่ได้ดีครับ หนังยังดูได้เรื่อยๆ อาจจะไม่ถึงกับสนุกลงตัวมากมาย แต่ก็ยังอร่อยกว่าภาคแรก จุดที่ถือว่า Nimoy ทำได้ดีคือการใส่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครลงไป เวลาเคิร์กคุยกับสก็อตตี้ หรือ เชคอฟพูดกับเคิร์ก ฯลฯ มันดูแนบแน่น มีความผูกพัน บทสนทนาก็สอดแทรกการหยอกเอินลงไปแบบพอดีๆ

แต่จุดที่อาจจะพร่องหน่อย คือความอืดเล็กๆ หรือความตื่นเต้นที่ดูเหมือนหนังจะยังมีในส่วนนนี้น้อยไปหน่อย ทำให้โดยทั่วไปแม้หนังจะจัดว่าได้มาตรฐานเหนือกว่าทีวี แต่ยังไม่สนุกสุดขีดเท่าภาคที่แล้ว ที่ทำออกมาสนุกสมศักดิ์ศรีหนังจอใหญ่

อีกคนที่เล่นได้ดีก็คือ Christopher Lloyd ครับ บทร้ายทำนองนี้แกถนัดอยู่แล้ว และขนาดเมคอัพหน้าเข้าไปขนาดนั้นก็ยังจำได้ เหมือนหน้าเขาเกิดมาเพื่อเป็นคลิงก้อนยังไงยังงั้น เพียงแต่ความร้ายของนายพลครูจคนนี้ยังร้ายได้อีก ฉลาดได้อีกน่ะครับ

FILM : Star Trek III : The search for Spock (1984) Starring DeFo

อีกจุดหนึ่งที่ผมว่าหนังพร่องไปก็คือมันยังไม่สุด เพราะจริงๆ ภาคนี้มีหลายอย่างที่สำคัญเกิดขึ้น ไม่ว่าจะการทำลายเอ็นเตอร์ไพรส์ หรือความตายของบางตัวละครที่มีความสำคัญต่อเคิร์ก

หรือประเด็น เกี่ยวกับเจเนซิสที่หนังได้สานต่อบทจากภาคก่อน ให้เจเนซิสเป็นเหมือนกับพลังงานนิวเคลียร์น่ะครับ มีหลายฝ่ายหมายจะช่วงชิงและหนึ่งในนั้นก็คือคลิงออน มนุษย์ต่างดาวพันธุ์นักรบที่ไม่ใคร่จะพูดดีๆ และไม่ยอมฟังเหตุผลอะไร มีแต่จะชิงและทำลายอย่างเดียว ซึ่งประเด็นนี้แม้จะถูกเปิดไว้แต่ก็ไม่ได้รับการสานต่อแบบเต็มที่สักเท่าไร ทั้งที่มันเป็นประเด็นที่เปรียบเปรยถึงเรื่องการเมือง (หรือสงครามเย็น) ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

นอกจากนี้เรายังจะได้เจอ Grace Lee Whitney เจ้าของบทเจ้าหน้าที่แรนด์ที่มารับเชิญเล็กๆ ตอนเอ็นเตอร์ไพรส์เข้าจอดที่สถานีอวกาศน่ะครับ ผู้หญิงที่ทำหน้าตะลึงตอนยานเข้าจอดก็คือเธอนั่นเอง ซึ่งตอนแรกหลายคนเข้าใจว่าเธอมารับเชิญในบทแรนด์ แต่ไปๆ มาๆ ในเครดิตก็ระบุเพียงว่าเธอเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไงชาว Trek หลายคนก็ถือว่าผู้หญิงที่ยืนตรงนั้นก็คือเจ้าหน้าที่แรนด์น่ะแหละ

โดยรวมแล้วภาคนี้จัดว่าดูได้เพลินๆ ครับ แต่อาจจะเหมาะกับคนที่ชอบ Star Trek ในระดับหนึ่งครับ หากคุณเฉยๆ หรือไม่คุ้นเคยกับลูกยานเอ็นเตอร์ไพรส์มาก่อนก็อาจรู้สึกธรรมดาก็ได้ แต่ก็ไม่แน่ครับของแบบนี้ยังไงก็ต้องลองสักครั้ง จะได้รู้ว่าเรานั้นแท้จริงมีเลือด Trekker หรือ Trekkies ซ่อนเร้นอยู่ภายในหรือไม่

ในด้านความสำเร็จทางรายได้ก็นับว่าสวยอยู่ ครับ หนังลงทุน 17 ล้านเหรียญ มากกว่าภาค 2 แต่ก็ยังน้อยกว่าภาค 1 ทำเงินคืนมาได้ 76.4 ล้าน ถ้ารวมจากทั่วโลกก็ประมาณ $87 ล้านครับ นับว่าใช้ได้พอสมควร

1367902680

แต่ธีมหนึ่งที่ Nimoy และทีมงานยังรักษาไว้ได้ก็คือ แรงจูงใจของผู้ร้ายน่ะครับ ต้องยอมรับว่าผู้ร้ายของ Star Trek นั้นมักจะมีแรงจูงใจ ไม่ใช่นึกจะร้ายก็ร้าย นึกจะโหดก็โหด อย่างในเรื่องนายพลครูจเองก็คล้ายกับข่านนั่นแหละครับ เขามีชุดความเชื่อความคิด มีแนวทาง “สิ่งที่ถูกต้องและควรทำ” อยู่ในหัว แต่พอดีว่าเขาเติบโตมากับสิ่งแวดล้อมนักรบที่เต็มไปด้วยการเข่นฆ่าและช่วง ชิงแบบคลิงออน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะมาพร้อมพฤติกรรมทำลายเช่นนี้

และหนังยังสะท้อนเรื่องน่าคิดอีกอย่าง นั่นคือ “มุมมอง” หรือเราจะเรียกว่า “ทัศนคติ” ก็ได้ครับ ที่กล่าวกันว่าเรามองอะไรหรือใครเป็นอย่างไร มันก็จะสะท้อนความเป็นเราได้ในเวลาเดียวกัน

ถ้า เราชอบมองใครลบเป็นนิจมันก็อาจสะท้อนได้ว่าเรานั้นติดมองลบ มีปมความรู้สึกหรือความคิดลบๆ อยู่ภายใน เหมือนที่พวกคลิงออนมองเจเนซิสเป็นอาวุธร้าย เอะอะก็มองเป็นอาวุธตอร์ปิโดอย่างเดียว ใครจะอธิบายยังไงก็ไม่ยอมเชื่อ ก็เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขาถูกหล่อหลอมมา

โดยส่วนตัวแล้วผมว่าชาว คลิงออนเป็นเผ่าพันธุ์ที่น่าเห็นใจครับ หลายครั้งหลายหนที่พวกเขาต้องเจอเรื่องร้ายก็เพราะแพ้ภัยตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะความดื้อรั้น ไม่ฟังเหตุผล เอาแต่ทำลาย ฯลฯ ซึ่งในภาคต่อๆ ไปหนังก็จะขยายผลร้ายอันเกิดจากการกระทำของพวกเขาให้เราเห็นชัดขึ้นๆ รวมถึงพัฒนาการทางความคิดบางอย่างด้วย

ไม่ว่าจะนายพลครูจหรือข่าน ก็ล้วนแต่มองสิ่งต่างๆ ในมุมที่มีการทำลายล้างเป็นทางออกเสมอ แล้วก็ยังยึดมั่นยึดติดในความคิดนั้น จนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

ถ้ามองในมุมหนึ่งมัน ก็คือเรื่องธรรมดาของจักรวาลล่ะครับ คนเราต่างกัน คิดไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน เลยทำให้เกิดผลลัพธ์อันหลากหลาย บ้างก็เข้าตัวคนที่ทำเอง บ้างก็กระทบไปถึงคนอื่น

แต่กับเรื่องธรรมดา เหล่านี้เราก็มีทางเลือกจัดการได้หลายแบบ เราจะมองพิจารณามันอย่างเข้าใจ แล้วฝึกปล่อยวาง ไม่นำมันมาเป็นอารมณ์ เพิกเฉยวางเฉยต่อมัน อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป

หรือเราจะเข้าจัดการ หาทางทำอะไรสักอย่างหากมีคนทำสิ่งที่กระทบถึงคนอื่นในทางลบ หรือทำให้ใครต้องเดือดร้อน

… หรือเราอาจเลือกเอาสองแบบนั้นมาผสมกัน แล้วหาค่ากลาง

แม้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องในระดับจักรวาล แต่สิ่งธรรมดาแห่งธรรมชาติก็ยังคงใช้ได้เสมอ

สองดาวครึ่งได้ครับStar22(7/10)