รีวิวนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องนะครับ ต้องขอบอกไว้ก่อน ดังนั้นหากไม่อยากทราบแนะนำให้ไปอ่านบรรทัดสุดท้าย พร้อมจำนวนดาวได้เลยครับ ผมเชื่อว่ามันบอกทุกอย่างว่าหนังเรื่องนี้น่าดูมากน้อยแค่ไหน
แม้หนังจอใหญ่เรื่องแรกอย่าง Star Trek: The Motion Picture จะทำเงินทั่วโลกไปถึง 139 ล้านเหรียญ แต่นั่นก็ไม่ใช่ตัวเลขที่พูดได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จ (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับทุนสร้าง $35 ล้าน) และคำวิจารณ์ที่คนดูมีต่อหนังก็ออกแนวลบเกือบทั้งหมด จนใครต่อใครพากันคิดว่าชะตากรรมของ Star Trek ภาคจอใหญ่น่าจะแค่ภาคเดียวจอด
แต่ทาง Paramount ก็ยังให้โอกาสครับ (เพราะแม้รายได้จะไม่เข้าเป้าแต่ก็ยังกำไรอยู่) ทำให้ Gene Roddenberry ผู้ให้กำเนิด Star Trek เดินหน้าเขียนพล็อตสำหรับภาคต่อ เนื้อหาว่าด้วยเหล่าคลิงก้อน ศัตรูคู่อาฆาตของสหพันธ์ดวงดาวได้เดินทางย้อนเวลาไปเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ทำให้ ท่านประธานาธิบดี John F. Kennedy รอดจากการถูกลอบสังหาร ซึ่งการทำเช่นนั้นส่งผลกระทบให้โลกอนาคตเปลี่ยนไป ทำให้ลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สต้องเจาะเวลาไปเปลี่ยนอดีตให้กลับมาเป็นรูปแบบ เดิม
ตัวพล็อตนั้นจริงๆ น่าสนใจครับ เพราะ Roddenberry หมายจะเล่นกับความขัดแย้งของตัวละคร ที่ภารกิจคือทำให้ ประธานาธิบดี Kennedy ถูกลอบ สังหารตามเดิม ทั้งที่ประธานาธิบดีคนนี้มีเจตนาที่ดีและหมายจะทำให้โลกมีสันติภาพแท้ๆ แต่หากไม่ทำตามนั้นประวัติศาสตร์ในอนาคตก็จะต้องเปลี่ยนไป และจะส่งผลในด้านดีหรือร้ายเพียงไหนก็ไม่อาจทำนายได้
แต่ทาง Paramount ตอบปฏิเสธอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ปฏิเสธบทเท่านั้นนะครับ แต่ปฏิเสธที่จะให้ Roddenberry มีส่วนในการกำกับ การเขียนบท การดัดแปลงบท เรียกว่าถอดเขาออกจากโปรเจคท์แบบกลายๆ น่ะครับ แต่ก็ยังให้ใส่ชื่อในฐานะที่ปรึกษาพิเศษ มีหน้าที่ให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ เพียงอย่างเดียว
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ Paramount สรุปว่าความล้มเหลวของภาคที่แล้วก็เพราะการตัดสินใจของ Roddenberry นั่นเอง ไม่ว่าจะเรื่องบท เรื่องทิศทางของหนังที่หลงประเด็นไปจากฉบับซีรี่ส์อย่างยิ่ง
จากนั้นก็ไปตามเอา Harve Bennett นักสร้างหนังโทรทัศน์ไฟแรงที่มีบทบาทใหญ่พอดูใน Paramount ให้มาคุมงานทั้งหมด ตั้งแต่หาบท หาคนกำกับ และคุมงานผลิต ซึ่ง Bennett นั้นออกตัวว่ายินดีรับงานนี้เพราะเขาอยากทำภาค 2 ของ ST ให้ออกมาสนุกกว่าภาคแรก ซึ่งBennett เคยบอกว่าดูภาคแรกแล้วคิดได้อย่างเดียว นั่นคือ “น่าเบื่อมากๆ” และยังให้ความเห็นว่าความน่าติดตามของภาคแรกมันน้อยก็เพราะในหนังมันไม่มี “วายร้ายหลัก” ให้คนดูได้ติดตามหรือให้คนดูได้ลุ้นแบบสนุกๆ ว่าพระเอกจะเอาชนะผู้ร้ายได้อย่างไร มีแต่การเดินไปมาในอวกาศเท่านั้นเอง
ขณะเดียวกัน Bennett ก็ออกมายอมรับว่าเขาไม่เคยดูซีรี่ส์ ST มาก่อน เขาเลยทำการบ้านโดยการเอาทุกตอนมาดูเรียงกัน กล่าวกันว่าเขาใช้เวลาขลุกอยู่ในห้องฉายของบริษัทประมาณ 3 เดือนเพื่อดู ST ให้ครบทุกตอนและเข้าถึงความเป็น ST
และตอนที่สะดุดตาสะดุดใจเขาที่สุดคือ Space Seed อันเป็นตอนที่ 22 ของปีแรก ซึ่งตอนที่ว่านี้มันส์มากครับ ว่าด้วยกัปตันเจมส์ ที เคิร์ก (William Shatner) กับลูกยานที่ไปรับตัวชายลึกลับผู้สง่างาม เขามีนามว่า ข่าน นูเนียน ซิงห์ (Ricardo Montalban) ซึ่งในตอนแรกเขาก็ดูวางตัวมีมาดภูมิฐานดี แต่เมื่อสืบสาวไปสักพักก็พบว่าข่านคือมนุษย์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม ตามโครงการการสร้างมนุษย์ให้สมบูรณ์ในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยผลลัพธ์ของการทดลองนั้นก็ทำให้ข่านไม่ต่างจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์, นโปเลียน โบนาปาร์ท และเจงกินข่าน ว่าง่ายๆ ก็คือข่านมีความเป็นผู้นำมากพอๆ กับความโหดเหี้ยม พร้อมฆ่าทุกคนที่ขวางทาง อีกทั้งยังมีมันสมองและเปี่ยมไปด้วยความหยิ่งทรนง
ข่านเกือบยึดเอ็น เตอร์ไพร์สได้สำเร็จ แต่ด้วยไหวพริบของกัปตันเคิร์ก และความช่วยเหลือจากลูกยานทำให้เคิร์กชนะ และเขาก็ตัดสินใจเนรเทศให้ข่านกับพรรคพวกไปอยู่บนดาวดวงหนึ่งแทน โดยเคิร์กหวังว่านั่นจะเป็นการมอบโอกาสครั้งใหม่ให้ข่านได้คิดและกลับตัว กลับใจ
หลังจากดูซีรี่ส์ ST ทั้งหมด Bennett ก็มั่นใจว่าข่านคือสุดยอดวายร้ายที่คนดูต้องชื่นชอบ
บทร่างแรกของ Bennett เขียนขึ้นราวเดือนพฤศจิกายน ปี 1980 ใช้ชื่อเรื่องว่า Star Trek II: The War of the Generations โดยตามพล็อตจะให้กัปตันเคิร์กต้องเดินทางไปเผชิญหน้ากับบุตรชายของตน ที่ได้กลายเป็นพวกกบฎ ก่อนจะพบว่าแท้จริงแล้วข่านคือผู้ชักใยทำให้พ่อลูกต้องห้ำหั่นกัน
บทร่างที่ว่านี้ Bennett เองก็ยังไม่โดนใจเต็มที่ เลยไปขอแรงให้ Jack B. Sowards ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ ST ให้มาปรับปรุงบท Sowards ก็เลยเพิ่มบทลงไปอีก ลดตรงนั้นเติมตรงนี้ โดยสิ่งหลักๆ ที่เขาเติมก็คือ ตัดเอาเรื่องกบฏออกไป แล้วโฟกัสเรื่องง่ายๆ ให้เป็นการปะทะระหว่างเคิร์กกับข่าน โดยมีพล็อตรองว่าด้วยการช่วงชิงสิ่งที่เรียกว่า Omega system อันเป็นอาวุธมหาประลัยที่สร้างขึ้นโดยสหพันธ์ดวงดาว ซึ่งข่านก็จะขโมยอาวุธนี้มาเพื่อถล่มเคิร์กและยานเอ็นเตอร์ไพร์สให้ย่อยยับ (ถ้าใครเคยดู Galaxy Quest จะคุ้นกับชื่ออาวุธมหาประลัยโอเมก้า ซึ่งก็มาจากเรื่องนี้เองครับ)
แต่ทีนี้ Bennett กับ Sowards ก็เกิดนึกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เลยมานั่งจับเข่าคุยกัน สิ่งที่พวกเขานึกก็คือ การจะเขียนบทกำหนดให้สหพันธ์ดวงดาวประดิษฐ์คิดค้นอาวุธมหาประลัยนั้นไม่น่า จะเหมาะ เพราะธีมของ ST นั้นกำหนดว่าในโลกอนาคต มวลมนุษยชาติจะมีความสามัคคีกัน ร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์แต่สิ่งดี ขจัดอคติและความเห็นแก่ตัวออกไป ว่าง่ายๆ คือกลายเป็นโลกในอุดมคติไปเลยน่ะครับ ดังนั้นหากจะให้สหพันธ์มาคบคิดประดิษฐ์อาวุธมรณะมันก็ย่อมดูขัดกับธีมดัง กล่าว
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ทีมงานพากันยอมรับครับว่า Bennett เอาใจใส่กับ ST อย่างแท้จริง ถึงขนาดจาระไนไล่เหตุผลอย่างลึกซึ้งในการเขียนบท ไม่เพียงแต่พยายามลงลึกไปที่ธรรมชาติของตัวละคร แต่ยังลงลึกไปที่ธรรมชาติของทุกส่วนใน ST เลยด้วย นับจากนั้นคนที่ไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจในการมาของ Bennett ต่างก็พลอยนับถือและช่วยในการสร้างภาคใหม่อย่างสุดกำลัง
กลับมาที่ประเด็นเมื่อกี้นะครับ พอ Bennett และ Sowards เห็นตรงกันว่าสหพันธ์ไม่มีทางผลิตอาวุธมหาประลัยแบบนี้ออกมาแน่ เลยเปลี่ยนครับ เปลี่ยนจากการช่วงชิงอาวุธมหาประลัย Omega กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า โครงการเจเนซิส (Genesis Device) ซึ่งเป็นโครงการที่มีไว้เพื่อ “สร้างสรรค์” ไม่ใช่ “ทำลาย” (แม้จะมีการระเบิดอยู่ในกระบวนการด้วยก็ตาม)
โครง การเจเนซิสนั้นก็คือโครงการปลูกดาวขึ้นใหม่ทั้งดวงครับ โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์จะบรรจุสสารตั้งต้นไว้ในแท่งแก้ว แล้วก็ตั้งเวลาให้มันระเบิด จากนั้นกระบวนการสร้างดวงดาวที่มีพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตก็จะเริ่มต้น เรียกว่าดาวดวงไหนที่ตายหรือไร้ชีวิต โครงการเจเนซิสก็จะสามารถคืนชีพให้กับดาวนั้นได้
เมื่อบทคร่าวๆ พร้อม การตามเหล่านักแสดงให้กลับมาลงจอก็เริ่ม ซึ่งทุกคนพร้อมจะกลับมาหมดครับ ยกเว้นคนเพียงคนเดียว… Leonard Nimoy เจ้าของบทสป็อกที่แสดงเจตจำนงหลายครั้งมากๆ ว่าเขาไม่อยากกลับมารับบทนี้อีกต่อไป ทำให้ Bennett และ Sowards ลงทุนนัดเจรจาด้วยตนเอง แต่ยังไง Nimoy ก็ยังยืนกรายไม่ยอมกลับมาแสดงครับ
ทีนี้ระหว่างสนทนาจู่ๆ Bennett ก็เงียบไป ก่อนจะเอ่ยขึ้นมาว่า “เลนเนิร์ด คุณคงไม่อยากละทิ้งบทสป็อกไปแบบนี้หรอกนะครับ… เอางี้ดีกว่า… คุณอยากให้ฉากการตายของสป็อกเป็นแบบไหน”
เท่านั้นล่ะครับ Nimoy สนใจกลับมาแสดงทันที เพราะมันจะเป็นการปิดฉากเรื่องราวที่ยอดมาก อีกทั้งตรงกับความต้องการ เพราะเขาจะได้ไม่โดนชวนให้กลับมาแสดงอีกต่อไป ในเมื่อบทกำหนดให้สป็อกแบบนี้
แต่ในบทร่างแรก หนังให้สป็อกตายตั้งแต่เรื่องดำเนินไปได้แค่ 1 ใน 3 ซึ่ง Nimoy ก็คิดว่ามันเร็วเกินไป แม้ฉากการตายจะวาดภาพออกมาได้ดีก็ตาม ทำให้บทในขณะนั้นยังไม่เป็นที่พอใจของ Nimoy อยู่
พอเรื่องเป็นแบบนี้ Bennett ก็อยากจะหาใครสักคนมาช่วยเกลาบท อีกทั้งยังอยากได้ผู้กำกับมารับงานเสียที เพราะหากรอนานไปเดี๋ยว Nimoy เปลี่ยนใจ ในตอนนั้นนั่นเองที่ Karen Moore ผู้บริหาร Paramount Television ได้แนะนำให้ Bennett ลองไปหาคนชื่อ Nicholas Meyer ซึ่งเขาคือคนประพันธ์ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ตอนพิชิตมัจจุราช (The Seven-Per-Cent Solution) และกำกับ Time After Time (หนังไซไฟที่จับเอา เอช. จี. เวลล์ส มาตามล่าฆาตกรโหด แจ็ค เดอะ ริปเปอร์… เป็นหนังที่สนุกเรื่องหนึ่งครับ ไว้จะเอามารีวิวให้ฟัง)
ขณะเดียวกัน Moore เองก็แอบไปยุ Meyer เพราะเขารู้ว่า Meyer อยากกำกับหนังอีก เลยดอดไปบอกว่า “นิ ค… ถ้าคุณอยากเป็นผู้กำกับแล้วเอาแต่นั่งปิ้งบาร์บีคิวอยู่ที่บ้านน่ะ คุณไม่มีวันจะเป็นผู้กำกับได้หรอกนะรู้ไหม คุณลองทำหนังอีกสักเรื่องดูสิ” แล้วพอ Bennett มาชวนเขาอีก ทุกอย่างก็เข้าล็อคครับ
หลังการพูดคุยกัน Meyer ก็พร้อมจะกำกับและจะเกลาบทให้ ซึ่งพอดีว่าตอนนั้น Nimoy กำลังถ่ายทำหนังเรื่อง A Woman Called Golda อยู่ที่อิสราเอล และยังไม่รับปากเต็มที่ว่าจะกลับมา Meyer เลยติดต่อไปเจรจาบอกบทคร่าวๆ ให้ฟัง และยังบอกว่าเขาจะเกลาบทให้เสร็จเรียบร้อยใน 12 วัน ซึ่งคำว่า 12 วันนี่แหละครับที่ทำให้ Nimoy ประทับใจในไฟของหนุ่มคนนี้ เพราะสมัยก่อนการจะทำบทหนังสักเรื่องมันต้องเป็นเดือนๆ แต่ Meyer รับปากว่าแค่ 12 วัน นั่นทำให้ Nimoy รู้สึกสนใจที่จะกลับมามากขึ้น
ใน ที่สุดทุกอย่างก็พร้อมครับ บทเสร็จ ดาราก็ครบ ในขณะที่งานสร้างนั้นก็ทำไปอย่างไม่เร่งรีบ ราบรื่นและเบาสบายกว่าคราวก่อนมาก แม้ว่าทาง Paramount จะแทงเรื่องลงมาว่างบสร้างภาคนี้ต้องไม่เกิน 11 ล้านเหรียญ เพราะบริษัทไม่อยากลงทุนเยอะให้มันเสี่ยงเกินไป ซึ่ง Meyer ก็ไม่มีปัญหาครับ เนื่องจากของประกอบฉากจากภาคก่อนยังอยู่ ทุนจึงจัดสรรให้อยู่ใน 11 ล้านได้แบบสบายๆ
สำหรับเนื้อหาภาคนี้ก็ว่าด้วยการเดินทางไปในอวกาศครั้งใหม่ กัปตันเคิร์ก (William Shatner) และลูกยานคู่ใจอันประกอบไปด้วย สป็อก (Nimoy), หมอแม็คคอย (DeForest Kelley), สก็อตตี้ (James Doohan) ช่างเครื่องปาฏิหาริย์, ซูลู (George Takei) พลขับเคลื่อน, อูฮูร่า (Nichelle Nichols) เจ้าหน้าที่สื่อสาร โดยที่การเดินทางไปกับยานเอ็นเตอร์ไพร์สของพวกเขาครั้งนี้ก็ในฐานะเหล่านัก บินอาวุโส ที่มาเพื่อฝึกสอนว่าที่กัปตันรุ่นใหม่อย่างซาวิค (Kirstie Alley) ชาววัลแคนสาวที่สป็อกกำลังปั้นให้เป็นเจ้าหน้าที่มืออาชีพอยู่
ขณะเดียวกันเชคอฟ (Walter Koenig) ก็แยกไปปฏิบัติงานที่ยานรีไลแอนท์ ร่วมกับกัปตันเทอร์เรลล์ (Paul Winfield) ภารกิจก็คือช่วยทีมนักวิทยาศาสตร์ในการทดลองโครงการเจเนซิส อันเป็นโครงการปลูกดาวขึ้นใหม่ และหน้าที่หนึ่งก็คือการตระเวนหาดาวรกร้างที่เหมาะสมสำหรับการทดลอง และดาวดวงล่าสุดที่เชคอฟลงไปสำรวจก็คือ เซติ อัลฟา 5 เป็นดาวที่ล้อมไปด้วยทะเลทรายและดูจะไร้ชีวิต… แต่ทว่าที่นั่นมีใครบางคนอาศัยอยู่ครับ เขาคือ ข่าน (Ricardo Montalban) ผู้ที่มีความแค้นต่อกัปตันเคิร์กชนิดอยู่ร่วมจักรวาลกันไม่ได้
และเมื่อเขาเจอเชคอฟ เขาก็ตระหนักได้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นแห่งแผนการล้างแค้นอันแสนหวาน
“มันต้องอย่างนี้เซ่” น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุดสำหรับ Star Trek ภาคนี้ครับ เป็นอะไรที่สนุกมาก เสน่ห์ ST ฉบับซีรี่ส์ได้กลับมาโลดแล่นให้เราเห็นอีกครั้ง พร้อมเหยาะความตื่นเต้นรสชาติใหม่ๆ ลงไปได้อย่างกลมกล่อม
อย่าง แรกคือมิติตัวละครครับ เสน่ห์ของลูกยานเอ็นเตอร์ไพร์สกลับมาอย่างเต็มตัว เริ่มจากเคิร์กที่มาพร้อมปฏิภาณไหวพริบ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แบนราบ เขามีวาระดีใจ ตื่นเต้น และโกรธแค้น ส่วนสป็อกกับหมอแม็คคอยก็ได้กลับมาต่อปากต่อคำกันเป็นพักๆ เสียที (ขณะที่ภาคแรกไม่มีส่วนนี้เลย) ซึ่งบทสนทนามองต่างมุมระหว่างมนุษย์กับชาววัลแคนก็ยังออกรสอยู่ครับ ในขณะที่เชคอฟก็มีวาระให้คนดูเห็นใจ (เพราะต้องเจ็บตัว) อยู่ไม่น้อย ส่วนซูลู และอูฮูร่าก็อาจจะมีบทน้อยลงบ้าง และสก็อตตี้ภาคนี้ก็โทรมเลยครับ เพราะต้องซ่อม ซ่อม แล้วก็ซ่อมจนคนดูน่าจะเหนื่อยแทน
นอกจากตัวละครหลักแล้ว Montalban เจ้าของบทข่านก็เล่นได้เหี้ยม ทรนงสมกับเป็นข่านจริงๆ ครับ และที่สำคัญคือเขาไม่ได้โหด เหี้ยม คลั่งเท่านั้น เขาก็มีมิติไม่แพ้ตัวละครฝ่ายดี ไม่ว่าจะความห่วงใยลูกน้องหรือความเศร้าที่มีเนื่องจากการเสียคนรักไป และที่ไม่ชมไม่ได้ก็เพราะ อย่างที่เราเห็นในหนังน่ะครับ ว่าเคิร์กและข่านไม่ได้เจอตัวจริงกันเลย และในการถ่ายทำนั้นพวกเขาก็ไม่ได้มาร่วมซีนเลยครับ Montalban เลยต้องแสดงอารมณ์โกรธ แค้น เสียงดังใส่คนบอกบทแทนครับ ไม่ได้เล่นเข้ากล้องกับ Shatner เลย
Montalban เคยเล่าว่าเขาต้องตะคอก ใส่เสียงเคียดแค้น ทั้งที่คนบอกบทนั้นบอกบทกับเขาแบบน่ารักและสุภาพเหลือเกิน จุดนี้เลยนับถือเลยครับว่าเขาเล่นได้ถึงจริงๆ ยิ่งเล่นได้โดยไม่มีคนคอยรับส่งอารมณ์แบบนี้ยิ่งยอดขึ้นไปอีก
หนังยังเพิ่มตัวละครใหม่ลงไปอีก 2 ครับ ได้แก่ ดร. แครอล มาร์คัส (Bibi Besch) ที่เคยเป็นคนรักของเคิร์กมาก่อน และพวกเขาก็มีลูกด้วยกัน (โดยที่เคิร์กไม่รู้มาก่อน) ชื่อว่าเดวิด (Merritt Butrick) ทำให้ภาคนี้มีความพิเศษมากขึ้นไปอีกครับ เพราะเราได้เจอหน้าคนรักและลูกของเคิร์กเป็นครั้งแรกก็คราวนี้เอง
จุด สนุกอีกอย่างคืออารมณ์ขันครับ ในหนังมีอารมณ์ขันเยอะมาก โดยเฉพาะการเล่นมุขวงในหรือการแซวกันเอง อย่างการให้เคิร์กต้องสวมแว่น (ไม่งั้นมองหน้าจอไม่เห็น) หรือตอนที่เคิร์กเปรยว่า “การท่องอวกาศมันเป็นงานหนุ่มสาวน่ะ” จนอูฮูร่าเองก็ยังถามว่า “นั่นหมายความว่าไงคะ” เพราะมันสื่อแบบแซวๆ ครับว่าเคิร์กและลูกยานดั้งเดิมน่ะ แก่มากเกินกว่าจะไปตระเวนอวกาศแบบหนุ่มสาวแล้ว 555
อย่างต่อมาคือความเข้มข้นของเรื่องครับ ทีเด็ดคือการต่อกรกันระหว่างเคิร์กกับข่านที่ต่างฝ่ายก็ล้วนเก่ง มีดี และมีไหวพริบ ไม่ต่างจากเชอร์ล็อค โฮล์มส์กับมอริอาตี้ ทีหากฝ่ายใดพลาดแม้เพียงเสี้ยวนาที อีกฝ่ายก็อาจพลิกสถานการณ์เป็นฝ่ายได้เปรียบในบัดดล ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจยังดูเรื่อยๆ ไม่มีอะไร แต่พอข่านเล่นแผนโจมตีเคิร์กในขั้นแรกได้เท่านั้นล่ะครับ ความน่าติดตามไหลมาเทมาทันที เราก็ต้องคอยลุ้นว่าเคิร์กจะแก้เกมยังไง และพอเคิร์กแก้เกมได้แล้ว ข่านจะหาทางเอาคืนยังไง ซึ่งจุดเด่นอีกอย่างก็คือตลอดเรื่องนี้เคิร์กและข่านจะไม่ได้เผชิญหน้ากัน แบบตัวต่อตัวเลยครับ อย่างมากก็เห็นผ่านจอภาพจากคนละยานกันเท่านั้น
โดย ส่วนตัวผมว่าเป็นความคิดที่ถูกครับ เพราะการห้ำหั่นกันด้วยยานมันสร้างความตื่นเต้นได้มากกว่าการสู้ตัวต่อตัว อยู่แล้ว อีกอย่างพวกเขาเคยตัวต่อตัวกันไปแล้วครั้งหนึ่งตอนสมัยเป็นซีรี่ส์ ดังนั้นการเปลี่ยนวิธีปะทะกันแบบนี้ก็นับว่าเป็นการหาความแปลกใหม่ให้กับ เรื่องราวได้ในทางหนึ่ง
ด้าน Effect แม้จะลงทุนน้อยลงแต่ให้ภาพที่สวยงามครับ โดยเฉพาะการไปไล่ล่ากันในเขตเนบิวล่าที่เต็มไปด้วยกลุ่มก๊าซ ก็ดูสวยไปอีกแบบครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันอาจไม่คม ชัด ลึกเท่าภาคแรกที่ทุนหนากว่าและใส่จินตนาการลงไปมากกว่า
ดนตรีของ James Horner ก็ไพเราะเข้ากับอารมณ์ขันและอารมณ์อ่อนโยน (ในบางจังหวะ) ของหนังได้เป็นอย่างดี
และหมัดเด็ดสุดท้ายก็คือการจากไปของสป็อกนั่นแหละครับ ที่ทำให้แฟนๆ นึกไม่ถึงและอึ้งกันไปทีเดียว
เมื่อ หนังออกฉายสัปดาห์แรก ปรากฏว่าสามารถทำเงินได้ถึง $14,347,221 ใน 3 วัน เป็นทุบสถิติใหม่ในตอนนั้นเลยครับ กลายเป็นหนังที่เปิดตัวได้แรงที่สุด ก่อนจะทำรายได้รวมทั่วโลกไป 97 ล้าน แม้ตัวเลขจะน้อยกว่าภาคแรก แต่ทาง Paramount ก็ยังยิ้มแฉ่งเพราะทุนสร้างนั้นน้อยกว่าภาคแรก 3 เท่าได้ ดังนั้นรายได้ระดับนี้เท่ากับว่าหนังทำกำไรให้บริษัทมากกว่าภาคที่แล้วซะอีก ไหนจะคำชื่นชมจากทั่วสารทิศที่ยกนิ้วให้กับภาคนี้ ทั้งนักวิจารณ์และแฟน ST ต่างเอ่ยชมเป็นเสียงเดียว และจนปัจจุบันคนก็ยังยกให้นี่เป็น ST ภาคที่ดีที่สุด แม้แต่ J. J. Abrams และ 2 มือเขียนบท Roberto Orci กับ Alex Kurtzman ที่ร่วมกันรึเมค ST ภาคใหม่ก็ยังออกมายืนยันอีกเสียงหนึ่ง ว่าภาคนี้เด็ดที่สุด
ST ภาคนี้จึงถือได้ว่าเป็นภาคที่คืนชีพหนังชุดนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จนทำให้ความตั้งใจแรกที่จะทำให้ภาคนี้เป็นภาคสุดท้ายกลายเป็นอื่นไปครับ จริงๆ มันเริ่มตั้งแต่ตอนถ่ายทำ และความคิดที่อยากทำตอนต่อน่ะก็ไม่ได้มาจากใครเลยครับ แต่มาจาก Nimoy คนที่บอกว่าอยากจะเลิกเล่นบทสป็อกนี่เอง
ว่ากันว่าระหว่างถ่ายทำนั้น Nimoy สนุกมากครับ แล้วก็เกิดเสียดายหากเรื่องราวของ Star Trek จะต้องจบลง จนเขาแอบไปปรึกษากับ Bennett ว่าจะเป็นไปได้ไหมที่เขาจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้การตายของสป็อกกลายเป็นจุด เริ่มของการผจญภัยครั้งใหม่ กล่าวคือการเปิดโอกาสให้สป็อกมีโอกาสคืนชีพอีกครั้งนั่นเอง
ส่วน Bennett เองก็อยากให้ ST มีตอนต่ออยู่แล้วครับ เลยเสนอให้่ Nimoy สอดแทรกบางอย่างลงไปในฉากสุดท้าย นั่นคือการเอามือไปแตะหน้าหมอแม็คคอยและพูดว่า “จำไว้” ซึ่งใครต่อใครในกองก็คิดว่าเป็นแค่การบอกลาปกติ แต่ที่ไหนได้ Nimoy กับ Bennett คิดจะใช้ฉากนั้นแหละเป็นประเด็น (ทิ้งเชื้อ) สำหรับการสร้างตอนต่อไป โดยไม่มีการบอกใครทั้งสิ้น…
ตอนนั้นขนาด Shatner เองยังไม่รู้เลยครับว่าแท้จริงแล้วสป็อกจะสามารถคืนชีพได้อีกในภาคต่อไป ทำให้ Shatner ยังคงแซว Nimoy มาจนถึงทุกวันนี้ ว่าทำอะไรไม่บอกกันบ้าง ระวังเขาจะเอาคืนนะ ว่าไปนั่น… และแล้ว Star Trek III ก็ถูกสร้างตามมาในเวลาไม่นาน…
ใน Star Trek ภาคนี้มีแง่คิดที่ผมรู้สึกชอบอยู่อย่างนะครับ นั่นคือตัวข่าน จริงๆ แล้วข่านเป็นคนเก่งนะครับ มีความกล้า มีความมุ่งมั่นแต่น่าเสียดายที่ในตัวเขานั้นอัดแน่นไปด้วยความแค้น อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นที่ยึดมั่นและถือมั่นในทางทำลาย
ข่านเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก อีกทั้งยังยึดมั่นในอุดมการณ์และความเชื่อที่ว่า “ต้องแข็งแกร่งเท่านั้นถึงจะอยู่รอด และผู้เข้มแข็งมีสิทธิ์ปกครอง (หรือทำอะไรก็ได้) กับผู้ที่ด้อยกว่า” และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ข่านพยายามยึดครองเอ็นเตอร์ไพร์สครั้งแล้วครั้งเล่า
ส่วน เคิร์กก็เหมือนพระเอกในอุดมคติทั่วไปครับที่เชื่อว่าคนเรามีส่วนดีซ่อนเร้น อยู่ และเขาก็เลือกจะให้โอกาสข่านเมื่อครั้งก่อน แต่น่าเสียดายที่ข่านไม่ใช่คนที่จะกลับใจง่ายๆ มิหนำซ้ำยังถูกปล่อยเกาะบนดาวที่แห้งแล้งและเต็มไปด้วยอันตราย
จุด นี้เคิร์กก็มีส่วนพลาดครับ เหมือนผู้รักษากฎหมายมากมายที่ต้องการจะให้คนร้ายกลับใจ แต่ไม่ได้มีการตระเตรียมวิธีการให้เหมาะสม เหมือนจะให้นักโทษกลับใจแต่นำไปใส่ไว้ในคุกที่ไม่ได้มีใครแนะนำทางที่ถูก ไม่มีคนสอนทางที่ควร อีกทั้งไม่ได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่จะหล่อหลอมให้คนเป็นคนดีได้ เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเราจับคนร้ายไปทำให้ร้ายเท่าเดิม หรือไม่ก็ร้ายทวีคูณแบบที่ข่านเป็น
ข่านเป็นตัวอย่างของตัวร้าย (หรือผู้ไม่ปรารถนาความสงบ) ที่ดีครับ จริงๆ แล้วคนเป็นตัวร้ายเขาไม่ได้คิดว่าตัวเองร้ายหรอกครับ แต่เขามีชุดความเชื่อในหัว มีแนวทางปฏิบัติในใจที่เขาเชื่อว่ามันใช่และเหมาะจะใช้ในชีวิตจริงที่ไม่ได้ โรยด้วยกลีบกุหลาบ
สำหรับคนมากมาย มีวิธีการดำเนินชีวิตที่ไม่ได้ขึ้นกับคำว่า “ถูก” หรือ “ผิด” เขาแค่ทำและเดินไปบนเส้นทางที่เขาเชื่อว่ามันจะให้ในสิ่งที่เขาต้องการ
เป็นโครงสร้างซับซ้อนอันเรียบง่ายของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์”
เคิร์กอาจเป็นพระเอกในสายตาเรา… แต่ข่านก็อาจเป็นฮีโร่ในสายตาคนอื่นก็ได้เช่นกัน
ไม่ ได้บอกให้เราเอาอย่างข่านนะครับ แต่บอกให้ตระหนักถึงธรรมชาติของจิตใจคน มีทั้งดีและไม่ดี เพียงแต่เหตุผลในการทำดีหรือไม่ดีนั้น มันไม่ใช่แค่คนคิดชั่วแบบไม่มีเหตุผล แล้วผันตัวเองเป็นตัวร้ายแบบหนังไทย มันมีอะไรที่น่าศึกษาและเข้าใจมากกว่านั้น
Star Trek ภาคนี้นอกจากเดินหน้าสำรวจพิภพอันแปลกตาแล้ว ยังมีปมให้เราสำรวจ “จิตใจ” อันเร้นลับและรอการค้นหาเช่นกัน
จริงๆ ตอนแรก Meyer อยากตั้งชื่อภาคนี้ว่า The Undiscovery Country อันหมายถึงดินแดนที่รอการค้นพบ… ดินแดนที่ว่าไม่ได้หมายความเพียง “โลกหรืออวกาศ” แต่หมายถึง “จิตใจคนที่ยากแท้หยั่งถึง” ด้วย (แต่ในที่สุดชื่อนี้ก็ไม่ได้ใช้ครับ ได้ไปใช้อีกทีใน ภาค 6 ที่ Meyer กำกับอีกรอบแทน)
สรุป สำหรับภาคนี้นะครับ ว่าเป็นภาคที่สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ มันอาจจะไม่ได้เดินเรื่องฉับไวหรือมี Effect ที่เด็ดเท่าปัจจุบัน แต่ความเข้มข้นของเรื่องราวนั้น ยอดเยี่ยมจริงๆ
สามดาวครับ(8/10)
หมวดหมู่:Action, Adventure, รีวิวหนัง/ภาพยนตร์, หนังแนะนำ Recommended, Sci-Fi