ปีนั้นผมตั้งจิตคิดเป็นแม่นมั่น ว่าถ้า J.K. Simmons ไม่ได้ออสการ์ ผมจะงอนคณะกรรมการจริงๆ ด้วย 555
ผมเป็นคนหนึ่งที่โดน Whiplash ฟาดกลางใจเข้าอย่างจัง คือพล็อตเล่าง่ายมากครับ ว่าด้วยแอนดรูว์ (Miles Teller) เด็กหนุ่มผู้ใฝ่ฝันจะเป็นมือกลองแถวหน้า กับเฟลทเชอร์ (J.K. Simmons) ครูดนตรีที่โคตรจะฮาร์ดคอร์ ชมเป็นชม ด่าเป็นด่า (และส่วนมากก็จะด่ามากกว่าชม) แล้วหนังก็โฟกัสความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์-อาจารย์คู่นี้ให้เราได้ชมครับ
หนังมันสุดยอด มันส์โคตรๆ น่าติดตามตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ Teller กับ Simmons ปล่อยของตลอดเรื่อง คือดูแค่ 2 คนนี้เฉือนฝีมือกันก็คุ้มแล้วน่ะครับ ในแง่ตัวละครในเรื่อง ทั้งคู่ต่างก็ไม่ยอมกัน และในแง่การแสดง ทั้งสองก็กินกันไม่ลงจริงๆ
ดาราเด็ด ผู้กำกับก็เด็ดครับ Damien Chazelle คุมหนังได้ดีมาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นงานกำกับชิ้นที่ 2 ของเขา แต่ก็สามารถคุมโทนได้อยู่ ไม่มีหลุด
+ ซีนไหนอยากให้กดดัน หนังก็สามารถแผ่รัศมีความเครียดมาถึงเซลล์สมองคนดูได้
+ ซีนไหนอยากให้รู้สึกอึดอัดสับสน ภาพตรงหน้าเราก็จะดูนิ่งเกิน เงียบเกิน จนเราคาดเดาไม่ถูกว่าเรื่องจะไปทางไหน
+ ซีนไหนอยากผ่อน บรรยากาศในหนังก็ดูผ่อนจนให้อารมณ์เหมือนเรานั่งอยู่ในบาร์แจ๊ส ฟังดนตรีเบาๆ เคล้าเครื่องดื่มดีๆ เลยทีเดียว (ผ่อนคลายโคตรๆ)
จุดที่เด็ดมากๆ อีกอย่างคือหนังถ่ายทอดให้เราเห็นมุมคิด การตัดสินใจ และความทุ่มเทของแอนดรูว์จนเราอดไม่ได้ที่จะเห็นใจเขา และเห็นชัดเจนว่าเฟลทเชอร์มีอิทธิพลต่อเขามากแค่ไหน ซึ่งทำให้เรายิ่งอยากติดตามว่าสุดท้ายแล้วแอนดรูว์จะเป็นอย่างไร เขาจะทำตามฝันได้ไหม หรือจะโดนสิ่งแวดล้อมบีบคั้นจนหมดแรงหมดกำลังไป
ในขณะที่ตัวเฟลทเชอร์เอง หนังวางสถานการณ์หลายอย่างได้คลุมเครือ หลายช่วงทีเดียวครับที่เราเดาไม่ออกว่าพี่แกกำลังทำอะไร แต่เมื่อดูจนจบแล้ว เราก็พอจะเห็นภาพรวมของเฟลทเชอร์ ซึ่ง Simmons แสดงได้เยี่ยมจริงๆ ครับ เพราะมันไม่ใช่ของง่ายเลยที่ใครสักคนจะแสดงบทแบบคลุมเครือ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแพลมๆ บางเจตนาออกมาให้คนดูสัมผัสเพื่อรู้ว่า ณ ขณะนั้นตัวละครกำลังคิดอะไร
แต่การแสดงออกแบบแพลมๆ นั้นก็ต้องไม่ให้มากเกินไป อย่างน้อยที่สุดคือต้องแพลมแบบให้คนดูรู้ แต่ต้องทำให้ละครร่วมจอ (อย่างแอนดรูว์) ไม่รู้ห้วงความคิดหรือเจตนาของเขา
Simmons แสดงได้ขนาดนี้ ถวายออสการ์ให้ลุงเขานั่นแหละครับ เหมาะสมแล้ว
++++++++++++++++++++++++
ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกเหมือนตอนดู Rashomon น่ะครับ คือผมไม่สนหรอกว่าจริงๆ แล้วเฟลทเชอร์คิดไง (เราตีความจะถูกหรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้ 100%) แต่ผมชอบในความคลุมเครือของตัวละคร เพราะมันสะท้อนความจริงของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนได้อย่างยอดเยี่ยม
มันจริงนะครับ คนเราก็คลุมเครือเหมือนตัวละครในหนังหลายๆ เรื่องนั่นแหละ เพราะคนเราไม่ได้มีตรายางประทับตรงหน้าผากว่าเป็นพระเอก นางเอก ผู้ร้าย หรือตัวประกอบ ผมเชื่อว่าคนที่คิดไม่ดีก็ใช่ว่าจะทำหน้าเหมือนตัวร้ายหนังไทยเสมอไป แบบพูดคนเดียว (แต่มีคนแอบไปได้ยิน) หรือแสยะยิ้มตอนตัวละครอื่นหันหลัง คือหลายสิ่งหลายอย่างมันซ่อนอยู่ในใจนี่แหละครับ คนปกติสามารถเป็นทั้งพระเอกหรือผู้ร้ายได้ ภายใต้ใบหน้าปกติที่เราเห็นกัน
ความคลุมเครือซับซ้อนของมนุษย์นี่แหละครับที่น่าสนใจ… บางครั้งเนื้อหาความจริงภายในใจอาจไม่สำคัญเท่ากับ “ทำไมคนเราถึงต้องซับซ้อน? ทำไมถึงต้องซ่อน? หรือทำไมถึงต้องแสดงอะไรๆ ออกมาซะจัดเต็มในบางเวลา?”
อะไรบอกจิตสำนึกเราว่า “ถึงเวลาซ่อน” (ทั้งที่บางทีเรื่องที่ซ่อนก็ไม่ได้มีใครสนใจ ดีไม่ดีมีเพียงแต่เราที่ให้ความสำคัญกับมัน)
อะไรบอกจิตสำนึกเราว่า “แสดงออกเต็มๆ ไปเลย” (ทั้งที่บางทีมันก็ทำให้เราถูกมองในแง่ประหลาดได้ หรือบางครั้งยิ่งเราแสดงออกจัดเต็มเท่าไร คนยิ่งไม่เข้าใจ หรือเข้าใจเราผิดไปมากเท่านั้น)
จิตใจและความคิดมีกลไกการทำงานที่น่าสนใจครับ แต่บางครั้งมันก็ยากเกินความเข้าใจ หรือบางครั้งต่อให้เข้าใจ “1” ก็ยังมี “2 3 4 5 6 7 8 9” ให้เรามึนต่ออีกเยอะ
++++++++++++++++++++++++++++
ถัดจากนี้มีสปอยล์ล่ะนะครับ
โดยส่วนตัว ผมมองว่าเฟลทเชอร์เองก็ไม่ต่างจากแอนดรูว์ครับ ทั้งคู่ต่างมีความฝัน มีภาพในใจ มีความคาดหวัง และมีความทุ่มเทเกินร้อย เรียกว่าในเกมชีวิต พวกเขาเป็นคนประเภท “ทุ่มหมดตัว” ด้วยกันทั้งคู่
ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่มีตราพระเอก-ตัวร้ายประทับอยู่ที่หน้าครับ บางนาทีพวกเขาก็เป็นคนธรรมดา บางนาทีพวกเขาก็โกรธ บางนาทีพวกเขาก็พอใจ… พวกเขาก็คือคนเหมือนเราๆ นั่นแหละครับ มีอารมณ์ขึ้นลงได้เสมอ
ในซีนไคลแม็กซ์นั้น มองได้หลายแบบครับ ส่วนผมมองแบบง่ายๆ ว่า พวกเขาต่างก็ไม่ความไม่พอใจอัดอั้นกันคนละแบบ เฟลทเชอร์ก็มีทั้งตอนที่ชอบไอ้หนุ่มนี้ กับตอนที่รำคาญเหม็นหน้ามัน ครั้นพอถึงตอนแอนดรูว์ปล่อยของ ไม่แปลกหากเฟลทเชอร์จะตกใจและไม่พอใจที่หมอนี่กำลังจะหักหน้าเขากลางเวที
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความไม่พอใจของเฟลทเชอร์ก็หายไป เพราะไอ้หนุ่มที่เขาเหม็นหน้ามันเล่นดีเว้ย มันเล่นถึงเว้ย มันเล่นมันส์เว้ย จนพี่แกลืมไปหมดว่าเคยโกรธอะไร รู้แค่ว่าแอนดรูว์นี่ของจริง เขามองไอ้หมอนี่ไว้ไม่ผิด เท่านั้นล่ะครับ ต่างคนต่างฟิน ต่างคนต่างมันส์ ไอ้ที่โกรธๆ กันเมื่อก่อนตอนนี้ลืมแล้ว (แต่ต่อไปในอนาคตจะตีกันอีกไหมก็ว่ากันอีกที)
ถือเป็นอะไรที่อธิบายคำว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ได้อย่างเห็นภาพ
++++++++++++++++++++++++++++
อีกอย่างที่ผมถือว่าเป็นศิลปะอย่างแรงในหนังเรื่องนี้คือศิลปะการจับภาพมาเล่า อย่างที่บอกว่าหนังเล่าตัวตนของเฟลทเชอร์ได้คลุมเครือ ซึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยให้ความคลุมเครือคงความขลังก็คือจังหวะการถ่ายภาพมานำเสนอให้เราดู
หนังเลือกจับภาพเฟลทเชอร์เท่าที่จำเป็น และในบางช็อตเลือกที่จะไม่จับเลย แต่เทมาที่แอนดรูว์แทน อย่างตอนแอนดรูว์เข้าไปเห็นเฟลทเชอร์เล่นเปียโนอย่างสุขุมคัมภีรภาพในบาร์ หนังจับภาพอารมณ์ของเฟลทเชอร์เล่นเปียโนได้ชัด
ครั้นพอถึงตอนที่เฟลทเชอร์รู้ว่าแอนดรูว์มา หนังใช้เวลาไม่ถึงวินาทีในการจับภาพชั่วขณะที่พวกเขาสบตากัน ก่อนจะย้ายภาพมาฉายที่แอนดรูว์ แล้วก็ฉายยาวมาจนถึงตอนเฟลทเชอร์ตะโกนเรียกแอนดรูว์
อยากรู้จริงๆ ว่าใบหน้าเฟลทเชอร์ตอนเดินมาเป็นเช่นไร?
ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นแอนดรูว์มากกว่า จะมีซีนเดียวที่เราเห็นพวกเขาแบบพอๆ กัน ซีนต่อซีน วิต่อวิ คือตอนไคลแม็กซ์ที่หนังตัดฉับๆ ให้เราเห็นว่าแอนดรูว์กับเฟลทเชอร์ ต่างคนต่างมันส์ แอนดรูว์ก้มหน้าฟาดกลอง เฟลทเชอร์รัวนิ้วตามจังหวะ
แอบคิดในใจว่าถ้าตลอดเรื่อง หนังถ่ายภาพเฟลทเชอร์พอๆ กับแอนดรูว์ (ประมาณว่ามีซีนพี่แกแอบยิ้ม แอบพอใจลูกศิษย์คนนี้) ซีนตอนท้ายคงไม่ขลังอย่างที่เป็น
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Tom Cross มือตัดต่อของหนังเรื่องนี้ถึงได้ออสการ์ไปนอนกอด!
+++++++++++++++++++++++++++++
ดูไปก็แอบคิดไปว่า ดนตรีในหนังเรื่องนี้คืออะไร?
หนังดนตรีหลายเรื่องนำเสนอดนตรีในแง่ของสิ่งงดงาม จรรโลงใจ ให้พลังบวก สร้างสามัคคี เชื่อมสัมพันธไมตรี ท่วงทำนองมีไว้โอบใจให้อบอุ่น
แต่กับเรื่องนี้ดนตรีเต็มไปด้วยความแรง หลายฉากก็ถึงขั้นรุนแรงถึงเลือด ซึ่งย่อมแล้วแต่มุมที่เราจะมองครับ
สำหรับผม ผมรู้สึกว่าดนตรีก็เหมือนอารมณ์คน มีทั้งบวกลบ หนักเบา แรงอ่อน เพราะเอาเข้าจริงแล้วมนุษย์ก็รังสรรค์ดนตรีโดยใช้ส่วนประกอบ 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ คลื่นเสียง, วัตถุที่ก่อให้เกิดเสียง และอารมณ์ที่จับเอาเสียงมาเรียงตัวกัน
ทั้ง 3 ส่วนล้วนถือกำเนิดมาจากธรรมชาติ โดยมีมนุษย์เป็นผู้จัดเรียงวางลำดับ สร้างจังหวะจะโคน
ในแง่หนึ่งดนตรีจึงเป็นเหมือนเครื่องมือให้มนุษย์ใช้เป็น “เครื่องปล่อยของ” ที่อยู่ภายในใจ ธรรมชาติของใครเป็นเช่นไร ก็สร้างอะไรที่เป็นเช่นนั้นออกมา
ดังนั้นในเรื่องนี้ ดนตรีที่เราเห็นอาจเป็นตัวแทนของความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยาน ความอดอั้น และความเกรี้ยวกราดของคน
ดนตรีก็เหมือนทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายในโลก มันขึ้นกับว่ามนุษย์จะเอาไปใช้ในแง่ไหน
เอาเข้าจริงดนตรี จะงามไม่งามก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวมันเองเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่มนุษย์จะนิยามตามความคิดและความเข้าใจ
เช่นเดียวกับหนังเรื่องนี้ (และทุกๆ เรื่อง) เราจะชอบ-ไม่ชอบ มองว่ามันดี-ไม่ดี ก็อยู่ที่เราจะมอบนิยามให้กับมันว่าอย่างไร
และสำหรับผม นี่เป็นหนังดนตรีที่มันส์เร้าใจ น่าติดตามสุดๆ ครับ
ห้ามพลาดเป็นอันขาด
สี่ดาวครับ
(9/10)