รีวิวหนัง/ภาพยนตร์

The Joy Luck Club (1993) จอย ลัค คลับ แด่…หัวใจแม่ แด่…หัวใจลูก

B00005JKGK.01.LZZZZZZZ

ภาพยนตร์อภิมหาเยี่ยมครับ ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันนี้ของ Amy Tan

เรื่องราวของแม่ลูก 4 คู่ซึ่งเป็นชาวจีนนะครับ แต่ไปอาศัยอยู่ที่อเมริกา โดยที่แม่ๆทั้ง 4 คนนั้นต่างก็เคยผ่านมรสุมสารพัดชนิดสมัยอยู่ที่จีน ทีนี้พอมาถึงรุ่นลุก แม้จะมาอยู่กันที่อเมริกาก็ตามทว่าลูกๆแต่ละคนก็มีปัญหาที่ไม่ต่างจากแม่ซัก เท่าไหร่ เหล่าแม่ๆเลยพยายามช่วยเหลือ เลี้ยงดู และสั่งสอนให้ลูกๆของตนได้พ้นจากปัญหา แม่บางคนก็ใช้วิธีขวานผ่าซากเกินไปจนลูกทำท่าจะไม่ยอมรับซะอย่างนั้น บางคนก็ให้ลูกได้ตระหนักรับรู้แก้ปัญหาเองจนบางครั้งก็เกือบจะสายเกินไปเช่น กัน แต่ไม่ว่าจะวิธีไหน หรือลูกจะคิดเห็นเป็นเช่นไร

บทสรุปสุดท้ายก็ไม่มีอะไรนอกจากคำว่า “แม่รักลูก”

คือ ว่า หนังมันบ้าครับ ผมไม่รู้จะเอาอะไรมาบรรยาย คือหนังเรื่องนี้เหมาะจะได้ออสการ์เอามากๆ (แต่น่าเสียดายที่หนังพะยี่ห้ออเมริกาครับ ไม่งั้นคงได้เข้าชิงและคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมไปแล้ว) นักแสดงชั้นยอดโดยเฉพาะเหล่าแม่ๆนี่เอาออสการ์กันไปคนละตัวครับ ด้านคุณลูกๆก็แสดงได้ดีเอามากๆ รับส่งอารมณ์กันได้ดีสุดๆราวกับเป็นแม่ลูกกันจริงๆ

การเดินเรื่องก็ น่าติดตามครับ ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าบทดัดแปลงมาจากนิยายได้ดีมาก (ซึ่งคนดัดแปลงก็คือ Tan เองและ Ron Bass เจ้าของบทหนังเรื่อง Rain Man, When a Man Loves a Woman, Dangerous Minds, My Best Friend’s Wedding เป็นต้น) ไอ้ที่ผมบอกว่าน่าติดตามนี่ในฐานะหนังดราม่านะครับ ไม่ใช่หนังแอ๊คชั่นหรือสืบสวนทิ้งปม ช่วยตีความตามนี้ด้วยนะ ไม่ใช่ดูเรื่องนี้แล้วบอกว่าหนังไม่มันส์ เด๋วปัดเหนี่ยวซะเลยนี่

หนัง ทำได้อย่างดีครับ ถามว่าน้ำเน่ามั้ย ก็มีครับ ประเภทผู้หญิงที่ตกเป็นเมียน้อยแล้วพอเข้ามายังบ้านของสามี ก็จะโดนเมียหลวงจิกด่าสารพัด แต่ทุกอย่างนั้นเป็นไปอย่างพอดี ไม่มีครับนางร้าย 180 เดซิเบลแบบบ้านเรา ประเภทมาแว้ดๆๆแล้วก็ปาข้าวของ ตอแหลอะไรแบบนั้นไม่มีเลยครับ

และจะบอกว่ามันน้ำเน่าซะทีเดียวก็ไม่ ได้ เพราะธรรมเนียมของจีนเขาเป็นแบบนี้อยู่แล้ว นั่นคือผู้ชายจะต้องเป็นใหญ่และผู้หญิงเป็นเพียงผู้ให้กำเนิดเด็กแก่วงศ์ ตระกูลเท่านั้น และหากไม่สามารถให้กำเนิดเด็กชายได้ ผู้หญิงคนนั้นก็จะกลายเป็นเพียงหญิงไร้ค่าในสายตาผู้ใหญ่เท่านั้นเอง ซึ่งผมก็จะไม่มาวิจารณ์ระบบประเพณีของเขาอ้ะนะครับ แค่เล่าให้ฟังเท่านั้นว่า ไอ้ที่เราเห็นในหนังเรื่องนี้น่ะ มาจากเรื่องจริงทั้งนั้นครับ ไม่มีอะไรเกินจริงเลยแม้แต่น้อย

หนังจะ ดำเนินเรื่องแบบตัดสลับครับ เล่าเรื่องของแม่ก่อนว่าสมัยสาวๆเจออะไร ต่อมาก็จะให้เราได้รู้ว่าพอมารุ่นลูกแล้ว ลูกๆเจอปัญหาแบบไหนบ้าง และปัญหานั้นจะแก้ได้อย่างไร ซึ่งการแก้ก็มาจากความรักของแม่แทบจะทั้งนั้นเลย มีหลายฉากครับที่เรียกน้ำตาผมได้อย่างสุดๆ มันซึ้งและทำให้นึกถึงแม่ขึ้นมาเต็มๆ มีทุกรูปแบบครับ จะร้องไห้เพราะมันซึ้งหรือจะหัวเราะทั้งน้ำตาก็มีครบ จะเอาอารมณ์ปลาบปลื้มหรือเศร้าสะเทือนใจ มีให้ทั้งหมดครับ

และหนังก็ดูง่าย มีมุมมองแง่คิดดีๆเยอะเหลือเกินครับ ผู้กำกับ Wayne Wang ทำหน้าที่ได้ดีเกินไปครับ อยากจะกราบแกงามๆซักรอบนึงจริงๆ

หนัง อาจจะไม่ตูมตามที่อเมริกา ก็ไม่น่าแปลกเพราะหนังเหมาะกับวัฒนธรรมเอเซียเรามากกว่าฮะ โดยเฉพาะเรื่องความผูกพันระหว่างครอบครัวซึ่งทางบ้านเราค่อนข้างแน่นแฟ้น กว่าทางอเมริกาเป็นไหนๆ

คุณเฮนรี่ ทราน สมัยยังเป็นผู้บริหารบริษัทเมเจอร์ที่นำหนังฝรั่งเข้าไทย เคยบอกไว้ว่า เขาคาดหวังกับหนังเรื่องนี้ไว้เยอะตอนเข้าโรง เพราะเนื้อหามันเข้ากับบ้านเราสุดๆ แต่ทว่ารายได้มันมาหยุดอยู่แค่ 657,999 บาทเท่านั้น ซึ่งคุณเฮนรี่ก็ยังบอกเลยว่า นี่เป็นหนังที่ทำรายได้ผิดหวังมากที่สุด เพราะมันไม่ใช่แค่เจ๊ง แต่มันตายเลยล่ะครับทำรายได้แค่นี้เอง ทั้งๆ ที่หนังมันดีออกอ้ะ อันนี้ก็น่าเสียดายยังไงก็ไม่ทราบครับ ซึ่งประเด็นนี้ก็เล่าสู่กันฟังครับว่าหนังคุณภาพมักจะมาตายที่บ้านเราเป็น ประจำ แต่ทีหนังตะกวดยักษ์ งูยักษ์ แมงมุมยักษ์นี่ทำเงินเป็น 10 ล้านมันทุกที เซ็งเล็กๆ แต่ก็ไม่รู้จะทำไง เพราะผู้บริโภคส่วนมากชอบอย่างนี้นี่เน้อะ

เอาล่ะ ร่ายมายาว เอาเป็นว่านี่คอหนังเกี่ยวกับแม่ๆลูกๆที่ทำได้ดีมากๆๆครับ ประทับใจและให้แง่คิดดีเหลือเกิน เอาแค่ฉากในร้านเสริมสวยนั่นผมก็ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรแล้วล่ะครับ เพราะมันเป็นฉากระหว่างแม่กับลูกที่น่ารัก ซาบซึ้งจริงๆ ประมาณว่าแม่ลูกต่างเข้าใจกัน แต่ก็ยังอดมีทิฐิต่อกันไม่ได้ แม่ก็ห่วงลูก ลูกก็รู้ว่าแม่ห่วง แต่ตามฟอร์มครับ ลูกแทบทุกคนพอเห็นว่าแม่พูดถูก แทนที่จะยอมรับแต่มันก็อดจะต่อต้านเล็กๆ ไม่ไ่ด้จริงมั้ยครับ เช่นอาจจะโบ๊ยไปข้างๆ คูๆ ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้อะไรยังงั้นน่ะแหละ

เอาแค่ฉากนี้มันก็ชำแหละหัวใจลูกทุกคนได้อย่างตรงเป้าสุดๆ แล้ว

June-23-The-Joy-Luck-Club-1

(นี่คือบทความฉบับเต็มที่ผมเขียนไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2554 ครับ)

ผมเคยรีวิวหนังเรื่องนี้เมื่อนานมาแล้วนะครับ ตอนนี้เลยอยากจะรีเมครีวิวใหม่ โดยการเอาบทความที่เคยเขียนถึงหนังเรื่องนี้ (ลงใน MovieTime) มาให้อ่านกัน ตอนนั้นเขียนเนื่องในโอกาสวันแม่ครับ

นี่คืองานกำกับระดับห้าดาวของ Wayne Wang จากนิยายแนวชีวิตยอดนิยมของ Amy Tan มาสู่ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของแม่ลูกได้อย่างยอดเยี่ยมและทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่ง ดูแล้วประทับใจสุดๆ มีฉากชวนร้องไห้ด้วยความอิ่มเอมเปรมใจ โดยส่วนตัวแล้วผมชอบมากครับ ยกให้เป็น Top Ten หนังในดวงใจกันเลยล่ะ นี่ยังหยิบมาดูซ้ำบ่อยครั้งโดยเฉพาะช่วงวันแม่เช่นนี้ ดูแล้วยิ้มทั้งน้ำตา ซาบซึ้งกินใจเหลือจะเอ่ย ยังไงก็ลองไปหาดูกันนะครับ จัดเป็น Highly Recommended อีกหนึ่งเรื่อง ห้ามพลาด

ถ้าว่ากันถึงความสำเร็จในเรื่องเงิน หนังก็ไม่ได้โกยเงินถล่มทลายนัก เก็บรายได้ไป $32.8 ล้าน บ้านเราก็ทำเงินไปนิดเดียวจนคนนำเข้ายังเคยบ่นอุบว่าน่าเสียดาย แต่ถ้าเอาแง่คุณภาพมาพูดกันล่ะก็ต้องเรียกว่าคับแก้ว เหล่านักวิจารณ์พากันยกนิ้วในความเยี่ยม ส่วนมากจะเป็นนักวิจารณ์ที่เข้าใจในขนบธรรมเนียมของเอเซียครับ ผู้หญิงต่างปรบมือให้หนังเพราะมันเจาะลึกถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมเมืองจีนระหว่างหญิงและชายได้แบบถึงใจ ซึ่งนอกจากฉบับหนังแล้วบ้านเราก็ยังมีนิยายแปลออกมาด้วย มีโอกาสหาอ่านเพิ่มได้ครับ

The Joy Luck Club เล่าถึงเรื่องราวของคุณแม่ชาวจีน 4 คนที่ย้ายมาตั้งรกรากในอเมริกา อดีตของพวกเธอนั้นต่างก็เคยประสบพบเหตุการณ์เลวร้ายเมื่อวัยสาว ทีนี้เมื่อพวกเธอมีลูกสาว ในใจลึกๆ เลยอดห่วงไม่ได้ว่าลูกจะเจอประวัติศาสตร์แย่ๆ แบบสมัยรุ่นแม่มาซ้ำรอหรือไม่ แล้วก็มีปัญหาตามมาจริงๆ ครับ บางคู่ก็แม่ลูกไม่เข้าใจกันเพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกันจนเกิดช่องว่างรูเบ่อเริ่ม บางคนลูกสาวอ่อนแอจนแม่ต้องปลุกความเข้มแข็งในตัวให้ฟื้นขึ้นมา ก่อนจะนำมาสู่บทสรุปลงเอยว่าแม่ลูกค่อยๆ เกิดความรู้สึกดีต่อกัน สานความเข้าใจกันได้ด้วยพลังแห่งความรักและสายใยที่ตัดกันไม่ขาด ในเรื่องมีแม่ลูกสี่คู่ ผมก็จะเอามาพูดแยกคู่ไปเลย อ้อ อย่าลืมนะครับ มันย่อมมีการสปอยล์เกิดขึ้นบอกไว้ก่อนครับ เอาล่ะ ถ้ายังประสงค์จะอ่านต่อก็เริ่มจากคู่นี้ครับ

 

หยิงหยิงและลีน่า แม่ลูกผู้กล้ำกลืนความทุกข์

เรื่องของหยิงหยิง (France Nuyen) จัดว่าน่าเศร้าที่สุดก็ว่าได้ ในวัยสาวเธอคือหญิงงามที่น่าจะโชคดีเพราะได้แต่งงานมีลูกชายกับหนุ่มหล่อแห่งเมืองที่มีเงินมั่งคั่งนามว่าหลินเซียว (Russell Wong) ทว่าชีวิตรักของเธอกลับเลวร้าย เพราะหลินเซียวเจ้าชู้แบบไม่ไว้หน้า มีหญิงอื่นไม่ว่ายังพาเข้าบ้าน ซ้ำยังด่าทอทารุณกับเธอ จนหัวใจหยิงหยิงบอบช้ำไม่มีชิ้นดี ซ้ำยังมาเจอกรรมซัดเมื่อเธอหมดอาลัยตายอยากมาก จนเผลอทำให้ลูกชายต้องมาตายไปต่อหน้า คิดดูสิครับผู้หญิงคนหนึ่งเจอสามีทรยศและลูกตายทั้งๆ ที่อยู่ในมือ… เธอจะเหลืออะไรให้มีกำลังได้อีก

อดีตอันขื่นขมยังหลอกหลอนเธอเสมอ แม้จะย้ายมาอเมริกาและแต่งงานใหม่ มีลูกสาวชื่อลีน่า (Lauren Tom) ซึ่งลูกคนนี้เหมือนจะซึมซับความอ่อนแอมาจากแม่โดยตรง เพราะเธอเป็นคนยอมคน ใครเอาเปรียบก็ไม่ปริปาก กล้ำกลืนแต่ความทุกข์ตรม ฮาร์โรลด์ (Michael Paul Chan) สามีเธอก็ถือเป็นมนุษย์เพศผู้ที่เอาเปรียบคนได้อย่างน่ารังเกียจ คิดดูครับมีเงินเดือนมากกว่าลีน่า 7 เท่าครึ่ง แต่ดันมีกฎให้ลีน่าต้องหารสองเรื่องเงินกับเขาแม้แต่ของที่เธอไม่ได้ใช้ โดยอ้างว่าเพื่อความเท่าเทียม (โอ้ เหลือเกินนะครับเนี่ย)

ถ้าปัญหาระหว่างลินโดกับเวฟเวอร์ลี่เกิดเพราะต่างฝ่ายต่าง “ทำ” ตอบโต้กัน ปัญหาที่หยิงหยิงและลีน่าต้องเผชิญก็เกิดจากการที่สองแม่ลูก “ไม่ทำ” อะไรเลยสักอย่าง พวกเธอไม่ปรึกษากัน ไม่ยืนหยัดเพื่อตัวเอง ไม่มีความมั่นใจ แม่ซังกะตายลูกก็ซังกะตาม ถ้าดูกันที่เหตุผลต้นขั้วก็มาจากความห่างกันระหว่างแม่กับลูก แต่ความห่างนี้ไม่ได้เกิดจากการตั้งป้อมไม่ยอมกันแบบคู่แรกนะครับ มันเกิดจากหยิงหยิงจมอยู่กับอดีตจนลืมมองปัจจุบัน เธอมัวแต่คิดถึงสิ่งที่เสียไป ไม่ว่าจะสามีเก่าหรือลูกน้อย แต่เธอลืมนึกไปว่า ตรงหน้าเธอยังมีลูกอีกหนึ่งคน รอรับความรักจากเธออยู่ ยิ่งเธอจมมากเท่าไรยิ่งห่างจากลูกเท่านั้น ส่วนลีน่าก็เป็นลูกสาวที่ขาดความอบอุ่น ไม่ได้รับการชี้ทางจากแม่ เธอจึงโตขึ้นเป็นเด็กที่ยืนด้วยตัวเองไม่ค่อยจะอยู่ ต้องเอาตัวไปพิงคนนั้นคนนี้ตลอดเวลา

เป็นที่ทราบกันมานานว่าคนที่มีความมั่นใจและแข็งแรงทางจิตต้องมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี ต้องได้รับการดูแลอันอบอุ่น เพราะคนเราต้องการความรักครับ เมื่อเราได้รับมันเพียงพอแล้วก็จะเรียนรู้ที่จะแบ่งมันให้คนอื่น แต่หากเราได้รับมันไม่พอ ก็จะขาด ทีนี้ล่ะครับเราเลยต้องไปหาจากคนอื่น ผมเลยสรุปได้ตรงนี้เลยว่าหากคุณอยากให้ลูกตัวเองมั่นใจยืนหยัดได้ คุณคือผู้ปลูกฝังคนสำคัญนะครับ คุณต้องคอยประคองช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษาและเพื่อนซี้ของเขา นั่นคือกระบวนการเติมเต็มที่จะทำให้ลูกคุณมีพลังรับมือกับเส้นทางชีวิตทุกรูปแบบ

Fresh Up Now! สิ่งที่อยากฝากถึงพ่อแม่คือ โปรดตระหนักเรื่องนี้ให้ดีครับ คุณคือต้นแบบของลูก การกระทำของคุณสามารถกำหนดอนาคตบางอย่างของลูกได้ หากคุณสู้ชีวิต มีความคิดเชิงบวก ชอบแก้ปัญหา ลูกคุณจะมีแนวโน้มเดินตาม แต่หากคุณนิ่ง เซ็ง จมกับอดีตแบบหยิงหยิงล่ะก็ ผมไม่บอกก็น่าจะเดาได้ มันคงไม่ดีเท่าไรนัก

ขณะเดียวกันถ้าคนที่อ่านตรงนี้คือลูก และเริ่มคิดว่าการที่คุณเหยาะแหยะหรือชีวิตไม่ค่อยประสบความสำเร็จต้องมาจากพ่อแม่ที่ไม่ดีแน่นอน โอ้ อย่าคิดเช่นนั้นครับ ผมบอกว่าการกระทำของพ่อแม่กำหนดอนาคต “บางอย่าง” แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ครึ่งหนึ่งที่คุณเป็นมันมาจากการเลี้ยงดู แต่อีกครึ่งหนึ่งคุณคือผู้กำหนดเอง กรุณาเข้าใจว่าพ่อแม่ทุกคนที่เลี้ยงให้คุณโตมา หากไม่รักคุณเลยคงเอาขี้เถ้ายัดปากไปนานแล้ว แต่การที่ท่านเลี้ยงคุณก็เพราะห่วงใย แต่ทีนี้พ่อแม่ก็คนน่ะครับ มีความผิดพลาดได้ มีอดีตที่เลวร้ายได้ บางคนก็ล้มละลายตอนธุรกิจฟองสบู่แตก บ้างก็มีอดีตที่ทำลายกำลังใจไม่เหลือซาก เช่น โดนโกง ของแบบนี้เราอย่าไปโทษท่านเลย ท่านก็ไม่อยากเจอเรื่องพวกนั้นหรอกครับ ถ้าชีวิตเป็นเกม Sim ล่ะก็ ท่านคงออกแบบให้ตัวเองมีเงินร้อยล้านมีบ้านร้อยไร่ไปแล้ว ผมอยากให้คุณลองเป็นลูกยุคใหม่ ที่เข้าใจตนเอง เข้าใจแม่และพ่อ หากพวกท่านไม่ได้สอนสั่งให้คุณแกร่งคุณก็แกร่งเองเลยครับ อ่านหนังสือ ออกกำลัง เรียนให้ดี ทำงานให้เด่นเพื่อตัวเอง เพิ่มศักยภาพในตนเอง ของแบบนี้สร้างได้ครับ อย่าคิดว่าพ่อแม่ที่ดีพร้อมเท่านั้นถึงจะสร้างลูกที่ดีพร้อมได้ ดูอย่างคนรวยทั้งหลายสิครับ มีเงินล้นฟ้า พ่อแม่บุคลิกดี แต่ถ้าลูกไม่เอาไหนชอบเกะกะระรานใครก็ไร้ค่าได้เหมือนกัน อย่างที่บอกไงครับ ชีวิตลูกครึ่งหนึ่งมาจากพ่อแม่ อีกครึ่งอยู่ที่เราลิขิต ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรเราก็ยังมีอำนาจที่จะลิขิตมันได้ อย่ารอช้าที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ และเมื่อเรายืนหยัดได้ก็อย่าลืมที่จะฉุดพ่อแม่เราให้ลุกขึ้นมายืนร่วมกันด้วย

เรื่องของหยิงหยิงและลีน่า ลงเอยด้วยดีครับ เมื่อหยิงหยิงเข้าใจประเด็นนี้ เธอรู้ว่าลูกมีชีวิตแบบนี้ก็เพราะเธอเอาแต่จมกับอดีตไม่สอนให้ลูกแกร่ง หากปล่อยไว้ลูกอาจพลาดเหมือนเธอ จึงให้กำลังใจลูก พูดจนลีน่าคิดได้ว่าเธอควรทำอย่างไร เป็นอีกหนึ่งฉากที่น่าประทับใจ เมื่อแม่ที่ล้มมานาน พยายามลุกอีกครั้ง… เพื่อลูก

อืมม์ กะแล้วเชียวว่าเล่าได้ไม่ครบสี่คู่ในหนึ่งเล่มหรอก ไม่เป็นไรครับครั้งหน้ายังมี ถือว่าเป็นเดือนแห่งหนังวันแม่ไปเลยแล้วกัน อ่านต่อฉบับหน้าอีกแล้วครับผม

เจตนาที่ผมนำเอาเรื่องราวมากล่าวถึงในช่วงวันแม่ก็มีสองประการครับ อย่างแรกผมอยากนำเอาเรื่องแม่มาพูดถึงให้เข้ากับเทศกาล และเจตนาอย่างที่สองคืออยากที่จะให้แม่ลูก (รวมไปถึงคุณพ่อด้วยนะครับ) ได้มีความเข้าใจกัน คิดถึงกันในแง่ที่สวยงาม ผมมั่นใจว่าทุกคนคงเคยประสบปัญหามองหน้าไม่ติดกับคุณแม่มาแล้ว (ดีไม่ดีอาจเพิ่งออกงิ้วกันไปหมาดๆ ก็ได้) ผมอยากให้คุณลองเปิดใจเล็กๆ อ่านทบทวนเรื่องเหล่านี้ มันอาจสะกิดใจคุณ หรือพลิกมุมคิดมองเรื่องไม่สบายใจในแนวทางใหม่ก็ได้ บางครั้งลูกก็ควรมองโดยเอาใจแม่มาตรองดู และบางทีแม่พ่อก็ควรนึกถึงใจลูกด้วย ทางที่ดีที่สุดคือต่างฝ่ายควรหันหน้าและเปิดเผยความรู้สึกออกมา โดยพยายามอย่าใช้อารมณ์ เพื่อเราจะได้เห็นทางออก พบกันครึ่งทาง ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจที่สุด

ประโยชน์ของวันแม่ไม่ได้มีไว้หยุดพักผ่อนไปเที่ยวกับแฟนหรือหนีพ่อแม่ไปทะเลกับเพื่อนเพียงอย่างเดียวนะครับ ผมไม่ห้ามเลยหากคุณจะเอาเวลาไปหย่อนใจในวันหยุด แต่ขอให้คุณอย่าลืมทำให้แม่มีรอยยิ้มน้อยๆ โดยการบอกรักท่าน เอาดอกไม้เล็กๆ ให้ท่าน หรือกระดาษเล็กๆ ที่เขียนข้อความสั้นๆ ว่าคุณรักท่าน หากคุณทำทุกวันอยู่แล้ว ขอยกนิ้วให้เลยครับ เพราะอันที่จริงวันแม่หรือแม้แต่วันพ่อก็คือทุกวันน่ะแหละ คุณสร้างให้วันธรรมดากลายเป็นวันพ่อแม่ไปพร้อมๆ กันก็ยังได้ ดังนั้นอย่ารอช้าที่จะให้ท่านรู้ว่าเรารัก ท่านจะแสดงออกตอบกลับมาหรือไม่อย่าไปคำนึงครับ ถือว่าเราได้ทำสิ่งดีๆ แล้วจะกลัวอะไรล่ะ กอดพ่อบอกรักแม่ต่อหน้าคนอื่นๆ ก็ยังได้ สิ่งสวยงามแบบนี้ไม่มีอะไรต้องน่าอายครับ บางคนไม่ชอบแสดงความรักพ่อแม่ต่อหน้าคนอื่นกลัวจะโดนมองว่าเป็นลูกแหง ผมจึงอยากบอกด้วยความหวังดีว่า ในเมื่อพ่อแม่ยังอยู่ให้เรากอด จงกอดท่านเถิดครับ… เอาล่ะ มาต่อกันอีก 2 คู่นะครับ

 

joyluckclub_eventpage

ลินโดกับเวฟเวอร์ลี่ คู่แม่ลูกที่ห่างเหินเพราะไม่ยอมกัน

แม่ลูกคู่นี้ผมค่อนข้างชอบเป็นพิเศษครับ ตอนดูก็ดูแบบเรื่อยๆ แต่เล่นเอาน้ำตาไหลแบบคาดไม่ถึง คนแม่ชื่อว่าลินโด จง (Tsai Chin) เป็นคนมีความมั่นใจในตนเองสูง อันว่าความมั่นใจนี้มีที่มา หนังได้เล่าอย่างน่าติดตามย้อนไปเมื่อลินโดยังเด็ก เธอต้องพึ่งพาตนเองและมีฐานะยากจน ในที่สุดก็ถูกแม่พาตัวไปคลุมถุงชนกับครอบครัวเศรษฐี ซึ่งเธอไม่มีความสุขแม้แต่น้อย โดนแม่ผัวเขม่นทุกวัน แต่ด้วยความฉลาดเฉลียวทำให้เธอพาตัวเองออกจากที่นั่นมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา ก็เนื่องจากเอาตัวรอดได้นี่แหละครับทำให้เธอรู้สึกว่าตนมีพาวเวอร์ คุมทุกอย่างได้ เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเองอย่างยิ่ง ซ้ำยังชอบอวดตนในบางครั้ง อีกทั้งความเชื่อในตนเองมากไปก็ทำให้มีลักษณะเอาแต่ใจพ่วงเข้าไปด้วย และพฤติกรรมทั้งหมดนี้ก็ถ่ายทอดมาถึงรุ่นลูก ซึ่งก็คือเวฟเวอร์ลี่ (Tamlyn Tomita) ลูกสาวที่มีดีกรีความมั่นพอตัว เป็นคนประเภทไม่ยอมใคร ในวัยเด็กเวฟเวอร์ลี่มีความสามารถเชิงหมากรุกที่ยอดเยี่ยม แข่งกับใครไม่มีคำว่าแพ้ ยิ่งมีแม่คอยเสริมกำลังใจกล่าวชมเสมอก็ยิ่งมีพลังไปกันใหญ่

แต่แล้วความมั่นใจก็สะดุดหยุดลง เมื่อเธอเกิดหงุดหงิดที่แม่ชอบทำตัวอวดโน่นนี่ โดยเฉพาะการอวดว่าเธอเก่งหมากรุกจนออกหน้าออกตา เวฟเวอร์ลี่ในวัยเด็กมองว่ามันช่างน่ารำคาญและน่าอายเหลือเกิน เธอจึงประกาศว่าจะไม่เล่นหมากรุกอีก ซึ่งแม่ก็ทำท่าไม่รู้ร้อนไม่รับรู้เป็นการตอบโต้ ช่องว่างระหว่างเธอกับแม่เริ่มที่จุดนั้น นับแต่นั้นมาเวลาจะพูดกันทีไรก็ทะเลาะกันทุกครั้งไป เวฟเวอร์ลี่จะทำอะไรก็เหมือนจะไม่ถูกใจแม่อีกเลย

ภาพที่เราเห็นในหนังก็คือแม่ลูกคู่หนึ่งที่เกิดหมางใจกันด้วยเรื่องในอดีต แต่ต่างฝ่ายต่างก็มีทิฐิหนาปึ้ก เลยไม่มีใครยอมให้แก่ใคร คนเป็นแม่ก็คิดว่าตัวไม่ได้ทำอะไรผิด คนเป็นลูกก็รู้สึกว่าแม่ทำตัวไม่เป็นผู้ใหญ่เอาซะเลย ลองว่ายืนกันเป็นมุมแดงมุมน้ำเงินแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะต้องมีมวยทุกทีที่เจอกัน

แม่ลูกหลายคู่เป็นเช่นนี้ ไม่เฉพาะกับแม่และลูกสาวเท่านั้น พ่อกับลูกชายก็มี อันว่าทิฐิทำนองนี้เข้าสิงได้ทุกคน และถ้ามันเข้าคู่ไหนล่ะก็ คนคู่นั้นจะเหมือนหินสองก้อนที่ไม่มีทางผสมผสานแลกเปลี่ยนอะไรกันได้ วิธีแก้ปัญหาคุณอาจมองออกว่า ก็ลดทิฐิสิ แต่ละฝ่ายลดอัตตาลง แล้วเปิดใจรับฟังอีกฝ่ายมันก็จะดีขึ้นเอง แต่นั่นก็เป็นของยากเอาเรื่องครับ เพราะแม่ก็มีเหตุผลที่จะยืนหยัดในมุมของตัวเอง ลูกก็พอกัน ไม่อยากยอมก่อนกลัวเสียหน้า … เรามาลองทำความเข้าใจผ่านทางกรณีของแม่ลูกคู่นี้ดีไหมครับ

Fresh Up Now! คนมากมายมองว่าการยอมก่อนคือความเสียหาย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความพ่ายแพ้ นั่นคือสิ่งที่ลินโดและเวฟเวอร์ลี่ยึดไว้ไม่ปล่อย ความหมางใจเลยคาราคาซังลามไปยังเรื่องอื่นๆ แต่หากดูให้ดีจะเห็นชัดครับว่ายิ่งปล่อยมันยิ่งส่งผลเสีย โชคดีที่ลินโดผู้เป็นแม่ตระหนักถึงจุดนี้ก่อนและลงมือแก้ไขมัน ในฉากสำคัญกลางร้านเสริมสวย (ประมาณนาทีที่ 48) ลินโดเอาแต่ตำหนิติลูกในเรื่องต่างๆ ลูกพูดซ้ายแม่ไปขวาตลอด จนลูกทนไม่ไหวถึงขนาดแสดงอาการอยากจะบีบคอแม่ขึ้นมา (แค่ทำท่าครับ ไม่ได้บีบจริง) เพราะแม่ช่างรั้นจนลูกไม่รู้จะทำอย่างไรอีกต่อไป ที่ผ่านมาแม้เวฟเวอร์ลี่จะทำตัวต่อต้านบ้าง แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เธอทำก็เพียงแค่ต้องการให้แม่ยอมรับและชื่นชมเธอบ้างเท่านั้นเอง แต่แม่นั่นแหละที่ยัดทิฐิใส่ลูกจนมันพอกพูนใหญ่โต

ภาพยามเวฟเวอร์ลี่เหลืออดนั้นได้เตือนสติเรียกความเป็นแม่คืนสู่ลินโด เธอคิดในใจว่าบีบคั้นลูกเกินไปหรือไม่ ในอดีตเธอรู้สึกว่าลูกทำขวางหูขวางตา เลยเอาแต่พูดแง่ลบเนื่องจากลูกเคยขัดใจ สร้างความผิดหวังให้ เธอเลยตอบโต้ลูกคืน แต่วินาทีนั้ลินโดเข้าใจแล้วว่าการตั้งป้อมแบบนี้มันเป็นสิ่งงี่เง่าเสียเหลือเกิน หากเธอไม่เริ่มหยุดวัฏจักรบ้าบอนี้ เธอและลูกอาจไม่ได้สนทนากันอีกตลอดไป “การโกรธไม่ให้อะไร แต่ความเข้าใจนี่สิที่ให้คุณ”

ในฉากนั้นเวฟเวอร์ลี่ระบายความในใจออกมา ว่าเธอแค่พยายามทำให้แม่พอใจ แต่มีเคยมีวันไหนเลยที่แม่จะพอใจเอาแต่ว่าให้เจ็บช้ำเพียงอย่างเดียว เมื่อได้ยินดังนั้นและคิดใคร่ครวญรู้แล้วว่าคนเป็นแม่อย่างเธอควรทำอะไร ลินโดเลยเอ่ยปากประโยคสั้นๆ ว่า “แต่ตอนนี้ แม่พอใจแล้วจ้ะ”

นี่ครับ ประโยคสงบศึกง่ายๆ แสดงความเข้าใจในตัวลูก เป็นการทลายกำแพงและมุมแดงมุมน้ำเงินไปจนสิ้น การหยุดยั้งช่องว่างระหว่างเรากับใครสักคน เราชอบคิดแต่ว่า ทางออกคือต้องยอมๆๆ แล้วจะได้จบ แต่เปล่าครับ การยอมน่ะมันจบแบบหลอกๆ เพราะสิ่งที่ค้างคามันไม่ได้ไปไหน มันยังฝังอยู่รอวันฟื้นคืนมาอาละวาด (เหมือนหนังสยองพวกเจสันน่ะครับ ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย เอาไปซอยเป็นชิ้นๆ มันยังหน้าด้านกลับมาได้เลย) แต่การจะระงับมันให้หายขาดแท้จริง ต้องใช้วิธีการสมานฉันท์ เปิดใจให้รู้ว่าอีกฝ่ายคิดเช่นไร เราคิดเช่นไร แล้วเราค่อยจบลงด้วยความเข้าใจ อย่าไปคิดว่าเรายอมแพ้ครับ เราไม่ได้ยอมอะไรเลย เราเพียงเข้าใจแล้ว ความบาดหมางเลยหายไปแค่นั้นเอง ง่ายๆ อย่าไปถือเรื่องศักดิ์ศรีให้หนักโดยเฉพาะกับคนที่เรารักเช่นลูกหรือแม่

เช่นเดียวกันครับ หากคุณเป็นลูกเช่นเวฟเวอร์ลี่ คุณก็สามารถเริ่มจบปัญหานี้ด้วยความ “เข้าใจ” ได้ เอาคำว่ายอมออกไปครับ เราเข้าใจต่างหาก ในรายของเวฟเวอร์ลี่นั้น เธอก็เข้าใจแม่ในท้ายที่สุดว่าแม่เธอรักเธอเสมอ แต่ก็ด้วยเหตุที่เธอไปทำลายสิ่งดีๆ ที่แม่ปลาบปลื้ม (โดยการโวยวายแม่เรื่องชอบอวดลูก ซึ่งอันที่จริงเราจะมองว่าลินโดอวดก็ได้ หรือมองว่าภูมิใจในตัวลูกก็ได้เช่นกัน อยู่ที่คุณจะมองมุมดีหรือมุมมืด) จะว่าไปเธอก็มีส่วนในเรื่องนี้เหมือนกัน เธอเลือกที่จะงัดข้อกับแม่แทนที่จะคุยให้รู้เรื่อง เห็นไหมครับ อันที่จริงเรื่องนี้มันไม่มีผิดถูกหรอก แต่มันเกิดจากการตอบโต้ในทางลบต่างหาก ผลมันเลยออกแง่ลบต่อเนื่อง

บทลงเอยของคู่แม่ลูกตระกูลจงเลยมาพร้อมรอยยิ้มและน้ำตาแห่งความปลื้มใจ (ผมก็ร้องไห้นอกจอด้วยอีกคน) ดูเหมือนสองคนนึกจะดีกันไม่ยากเย็น แต่ก็ไม่ง่ายดายเอาซะเลยเมื่อคนเราเอาทิฐิความถือตัวมาใช้เป็นองค์ประกอบ มันไม่มีประโยชน์จริงๆ นะครับ ผมอยากให้ลองถามตัวเองดูนะครับ ว่าคุณเป็นเหมือนแม่ลูกคู่นี้หรือไม่ คุณตั้งแง่ไม่ยอมคน ฟังแต่เหตุผลของตัวเองอย่างเดียวหรือไม่ ถ้าคุณเป็นล่ะก็ขอให้อ่านข้างบนอีกรอบเพื่อหาทางออก มันไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้นเข้าใจคนใกล้ตัวครับ

แม่ลูกทั้งหลายที่เข้ากันดีไปกันได้ ก็เพราะพวกเขารู้จักวิธีสานความรู้สึกที่งาม ปรามความรู้สึกที่แย่ แบบนี้เขาเรียกว่า Win Win Solutionไงครับ ทางออกที่ได้รับสิ่งดีทั้งสองฝ่าย นี่คือทางออกที่เหมาะสมที่สุดเมื่อคุณกับแม่หรือพ่อเกิดความไม่เข้าใจกัน จงเลือกทางที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ย่อมดีที่สุดครับ

 

The-Joy-Luck-Club-the-joy-luck-club-2895629-531-411

แอนเหมยและโรส แม่ลูกผู้รู้จักคุณค่าของตนเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงชาวจีนมักโดนกดขี่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พวกเธอจึงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากกดความต้องการของตน ทำเพื่อคนอื่นตลอดเวลา นับวันมันก็ค่อยๆ พอกพูนความชอกช้ำเป็นกองพะเนินขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเธอก็หมดลมหายใจไป โดยที่ไม่ได้ทำอะไรดั่งใจสักอย่าง ไม่แม้แต่จะมีความสุขสักขณะหนึ่งของชีวิต ฟังแล้วสะเทือนใจยิ่งนัก … แต่เรื่องแบบนั้นไม่เกิดกับแอนเหมย (Lisa Lu)

ชีวิตของแอนเหมยนั้นรันทดแต่เด็ก พ่อจากไปตอนเธออายุเพียง 4 ขวบ และไม่นานหลังจากนั้นแม่ของเธอ (Vivian Wu) ก็ถูกเนรเทศออกจากบ้าน เนื่องจากไปหลับนอนกับชายอื่นทั้งๆ ที่สามีเพิ่งเสียได้ไม่กี่วัน แอนเหมยถูกเหล่าญาติสอนให้เกลียดแม่ที่ไม่รักศักดิ์ศรี แต่ด้วยความเป็นแม่ลูกทำให้เธอคิดในใจเสมอว่าแม่ต้องไม่ใช่คนเลวอย่างที่ใครเขาเอ่ยอ้าง เมื่อเธออายุ 9 ขวบแม่ก็กลับมาเพราะยายอาการป่วยหนักมาก แม่ของแอนเหมยไม่สนว่าใครจะด่าทออย่างไร เธอกลับมาเพื่อทำตามประเพณีจีนที่แสดงถึงความกตัญญูขั้นสูงสุด นั่นคือ หากแม่หรือพ่อของตนป่วยมากจนเกินเยียวยา ว่ากันว่ามีเพียงสิ่งเดียวที่ช่วยต่อชีวิตท่านได้ คือ เลือดของผู้เป็นลูก

แม่ของแอนเหมยมาก็เพื่อเชือดเนื้อตน นำเลือดตัวมาให้แม่กิน เพื่อให้แม่ได้รอดชีวิตต่อไป โดยไม่ปริปากบ่นหรือตัดพ้อแม้แต่คำเดียว … แอนเหมยเห็นภาพดังกล่าวก็ยิ่งเชื่อกว่าเดิมว่าแม่ของเธอไม่ได้เลวอย่างที่ใครคิด เธอเริ่มติดแล้วว่าแม่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนบางสิ่งอยู่ เพียงแต่เธอยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร

ในที่สุดแอนเหมยตัดสินใจไปอยู่กับแม่ ซึ่งตอนนี้ดำรงฐานะเป็นเมียคนที่ 4 ของมหาเศรษฐีใจทรามรายหนึ่ง แล้วแอนเหมยก็ได้ทราบความจริงทั้งหมดว่า แท้จริงแล้วแม่ไม่ได้ทำตัวเสื่อมเสียมาเสนอตัวเป็นเมียน้อยใคร แต่ถูกล่อลวงมาจนถูกเจ้าเศรษฐีคนนี้ปู้ยี้ปู้ยำ พอเอาไปบอกใครก็ไม่มีใครเชื่อ เธอจึงไม่มีทางเลือก ต้องอยู่อย่างอดสูเป็นเมียน้อยเขา จำต้องทน เพราะเธอจะได้มีของมีค่ามอบให้แอนเหมย…

นอกจากนี้แอนเหมยยังรู้ว่า แท้จริงแล้วเธอมีน้องชาย ซึ่งก็คือลูกที่เกิดจากแม่และเจ้าเศรษฐีนั่นแหละ แต่น้องเธอโดนคุณนายสองของบ้านแย่งชิงไปเป็นลูกตนเอง

เมื่อแม่ได้เล่าทุกสิ่งให้แอนเหมยรู้ เธอก็ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เพราะหมดอาลัย แต่เพื่อให้ลูกได้มีพลังในการต่อสู้กับคนชั่ว โดยการเอาความเชื่อเรื่องภูตผีมาช่วย ทำให้คนที่ทำร้ายแม่เธอกลัวหัวหด และเธอก็ได้ตำแหน่งฐานะพร้อมทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายมาครองในที่สุดและได้น้องชายกลับคืนมา… นี่ไงครับของมีค่าที่ผมกล่าวถึง ไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นพลังแห่งความกล้าที่จะเรียกร้องในสิ่งที่เป็นของตน กล้าที่จะยืนหยัดเพื่อตนเอง เพื่อคนที่รักและตระหนักรู้ในคุณค่าที่ตัวเองมี

จากสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมด แอนเหมยเลยสาบานกับตนเองว่าหากเธอมีลูก เธอจะเลี้ยงลูกให้ดี ให้มีความกล้า แต่เรื่องกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะ โรส (Rosalind Chao) ลูกสาวของเธอกลับมีสภาพไม่ต่างจากแม่ของแอนเหมย ที่เอาแต่ยอมคนอื่น ไม่กล้าแสดงความคิด ไม่รู้จักคุณค่าของตนและไม่คิดที่จะปริปากบอกสามี (Andrew McCarthy) ว่าเธอต้องการอะไร เอาแต่ตามเขาต้อยๆ ยอมทุกอย่างจนสามีเธอเบื่อและคิดเดินจากเธอไปมีหญิงคนใหม่ ถึงขนาดนั้นแล้วโรสก็ยังคงอมพะนำ ไม่บอกความต้องการของตนต่อไป กล้ำกลืนฝืนอยู่อย่างนั้น จนแอนเหม่ยทนไม่ได้ เลยเล่าเรื่องคุณยายให้ฟัง เพื่อเตือนสติและสอนลูก

Fresh Up! คุณคงเห็นนะครับว่าแม่ของแอนเหมยและโรสมีปัญหาคล้ายกัน ซึ่งหลายคนก็มีปัญหานี้ ได้แก่ การมองไม่เห็นคุณค่าตนเอง เอาแต่ยอมคนอื่นอยู่ร่ำไป โอ้ ผมไม่ได้จะปลุกระดมให้คุณยืนหยัดเพื่อสิทธิตนเองหรอกนะครับ (ออกไป ออกไป เอ้ย ไม่ใช่แล้ว) แค่อยากให้คุณตระหนักในคุณค่าของตนเองบ้าง

ผมเข้าใจว่าหลายคนเลือกที่จะยอมเพราะมันเป็นทางที่ง่าย แต่อันที่จริงการยอมแต่เพียงอย่างเดียวมันทำให้เราเสียมากกว่า คนในโลกนี้หลักๆ จะมีอยู่สองประเภท ได้แก่คนที่เคารพคนอื่นและคนที่ชอบเอาเปรียบ ในกรณีของแม่แอนเหมยก็เจอคนที่เอาเปรียบ กดขี่และเหยียบเธอจนจม คนลักษณะนี้หากเรายอมท่าเดียว ก็มีแต่เสียกับเสียและคนนั้นจะได้ใจ ทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ลองว่าเจอแบบนี้ทางออกมีสองแบบครับ คือหลีกเลี่ยงไม่ไปข้องแวะอีก หรือไม่ก็ยืนหยัดเพื่อตนเอง ผมไม่ได้เสี้ยมให้คุณชนกับใคร หากเขาไม่ทำอะไรเรา เราก็ไม่ทำอะไรเขา ต่างคนต่างอยู่ ถ้าเขาขอให้เราทำอะไร เราเอื้อเฟื้อช่วยได้ก็ช่วย แต่เมื่อใดก็ตามที่เราโดนเอาเปรียบ ก็ต้องปกป้องตัวเราโดยการแข็งบ้าง เพราะถ้าเรายอมหนึ่งครั้งก็จะมีครั้งต่อมาแบบที่แม่ของแอนเหมยโดน ดังนั้นการทำเพื่อปกป้องตนเอง หากไม่ระรานใครและกันไม่ให้คนอื่นระรานเรา ก็ทำได้ครับ

ส่วนกรณีของโรส ดูเผินๆ เหมือนสามีเธอจะไม่ดี เพราะคิดตีจากเธอไป แต่ถ้ามองให้ลึก เราจะเห็นสาเหตุสำคัญอีกหนึ่งประการที่ทำให้ชีวิตรักหลายคู่จบลงมานักต่อนัก ก็การเอาแต่ยอมนี่แหละ

จริงๆ ในเรื่อง สามีของโรสเขาก็เป็นคนดีนะครับ แต่ปัญหามันก่อตัวเนื่องจากโรสตามใจสามีตลอด กินอะไรก็ถามแต่สามี ทำอะไรก็ขึ้นกับสามีอย่างเดียว มันกลายเป็นการลดอำนาจความมั่นใจของตัวเอง ย้ายไปสู่สามีหมด จนเขาเบื่อ เพราะอยู่ในบ้านก็เหมือนอยู่คนเดียว มีภรรยาก็เหมือนอยู่คนเดียว เพราะเธอไม่ได้แสดงตัวตนหรือบอกในสิ่งที่เธอต้องการให้รู้เลย มันจึงส่งผลให้เขาละเลยและเหินห่างเธอ นับวันเหมือนยิ่งไม่รู้จักเธอมากขึ้น

ผมเคยบอกว่าชีวิตคู่คือการหารสองครับ การที่คนสองคนมาอยู่ร่วมกัน คือแชร์ชีวิต คุณว่าการที่ใครสักคนปิ๊งใครสักคนเนี่ย มันเกิดจากอะไรครับ … มันก็ต้องปิ๊งที่ตัวตนของอีกคนจริงไหมครับ อาจชอบนิสัย การพูดจาความคิดวิสัยทัศน์ อะไรพวกนี้คือตัวตนของแต่ละคน ดังนั้นเวลาคนชอบกันก็เพราะมีตัวตนที่เข้ากันได้ จนอยากอยู่ใกล้กัน แต่แล้วโรสเป็นฝ่ายเลือกที่จะลดตัวตนเธอลง เอาแต่นอบน้อมต่อสามี จนสมดุลย์ในครอบครัวเสียไป สามีก็เริ่มเฉยกับเธอ เพราะตัวตนที่สดใส มีชีวิตชีวาที่เคยชนะใจเขานั้นมันหายไปไหนก็ไม่รู้

มันก็เป็นการมองต่างมุมเหมือนกัน โรสคิดว่าการที่เธอยอมตาม เอาใจเขาคือสิ่งเหมาะควร แต่หารู้ไม่ว่าสามีไม่ต้องการ เขาต้องการเธอ คนที่ฉะฉานสมัยที่รักกันใหม่ๆ เขาอยากได้ผู้หญิงที่เดินไปพร้อมกันต่างหาก

แต่ความรักของโรสก็จบลงด้วยดีนะครับ เมื่อโรสได้ฟังเรื่องของคุณยาย และแม่ได้พูดกระตุ้นลูกให้ยืนหยัดเพื่อตนเอง รู้จักปฏิบัติต่อตนเองอย่างคนที่มีคุณค่า เป็นภรรยาที่ดีต่อสามีแต่ไม่จำต้องยอมเขาตลอด แสดงสิ่งที่ตัวเองคิดออกไปแบบคู่ชีวิตที่แชร์การตัดสินใจต่างๆ ด้วยกัน เมื่อโรสให้เกียรติตนเอง สามีก็กลับมาให้เกียรติเธอ อันที่จริงสามีเธอก็ยังรักเธอครับ เขาเพียงต้องการให้โรสกลับมาเป็นสาวแกร่งหัวสมัยใหม่คนเดิมเท่านั้นเอง แล้วในที่สุดสมดุลย์ระหว่างโรสและสามีก็กลับมาอีกครั้ง

อย่าลืมนะครับ คุณค่าของเราคือสิ่งที่สร้างได้ ขอเพียงเราทำสิ่งดีๆ และเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เมื่อนั้นตัวคุณก็จะเริ่มมีคนให้เกียรติ ใครๆ จะเห็นคุณค่าของคุณ … ก็ถ้าขนาดคุณยังไม่เห็นคุณค่าในตนเองแล้วใครจะเห็นล่ะจริงไหมครับ ผมจึงสนับสนุนให้คุณเห็นมันก่อน แล้วคุณจะมีมันครับ

ผมดูแล้วชอบแม่แอนเหมยมากนะครับ เธอเป็นแม่ที่น่ารักที่สุดในบรรดาแม่ทั้งสี่คน เพราะห่วงใยลูกและพร้อมจะสอนลูกอย่างอ่อนโยน สังเกตได้เลยครับเธอจะไม่เกรี้ยวกราดหรือใส่อารมณ์กับลูก เธอรู้ว่าลูกต้องการกำลังใจไม่ใช่คำซ้ำเติม เลยค่อยๆ สอน ค่อยๆ เล่าเรื่องให้ลูกได้เข้าใจ นี่แหละครับคุณแม่ที่ลูกทุกคนต้องการ ไม่มีเด็กคนไหนชอบคำด่าหรอกครับ เขาต้องการความรัก มีหลายคนบอกว่าด่าเพราะรักลูก แต่จริงๆ คุณแม่ไม่ต้องด่าก็ได้นี่จริงไหมครับ พูดดีๆ ย่อมได้เหมือนกัน คำพูดคือสิ่งที่มาจากปากและสมองของเรา เราควบคุมกลั่นกรองมันได้เสมอ ดังนั้นในฐานะลูกขอสนับสนุนให้แม่ทุกคนกรองเถอะครับ เพื่อลูกคุณจะได้อยากฟังคำสอนคุณไปนานๆ

ขณะเดียวกันก็อยากฝากถึงลูกทุกคนว่า อย่าไปคิดมากหากแม่เราเป็นคนเจ้าอารมณ์ จงคัดเอาเฉพาะคำดีๆ ที่ให้สาระแก่ชีวิตแล้วตัดเอาคำไม่สำราญหูออกไป หรือไม่คุณก็อาจลองพูดกับแม่อย่างตรงไปตรงมาว่ารู้สึกอย่างไรเวลาที่แม่แสดงอารมณ์กราดเกรี้ยว ถ้าคุณไม่ชอบก็บอกครับ มันอาจไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยแม่คุณก็จะได้รับรู้ และแม่ส่วนใหญ่เมื่อรับรู้แล้ว มักจะพยายามปรับปรุงมัน … ไม่เสียหลายที่จะลองนี่จริงไหมครับ

 

The-Joy-Luck-Club00008-1024x717-600x350

ซูหยวนและจูน แม่ที่มีความหวังและลูกที่แบกภาระแห่งความหวังนั้น

นี่คือคู่หลักของเรื่องครับ แม่ชื่อว่าซูหยวน (Kieu Chinh) ที่คาดหวังอย่างมากในตัวจูน (Ming-Na Wen) ลูกสาวของเธอ ในสมัยจูนยังเด็ก ซูหยวนได้จ้างคนมาสอนเปียโนให้ โดยวาดหวังว่าลูกจะมีความโดดเด่นด้านดนตรี แต่แล้วเมื่อจูนทำได้ไม่ดีเท่าที่แม่หวังไว้ ก็ทำให้ช่องว่างระหว่างแม่ลูกเกิดขึ้นทันที

จูนได้รู้ความจริงว่า ในอดีตตอนอยู่จีน แม่ของเธอมีลูกสาวฝาแฝด แต่ด้วยภัยสงครามและตัวแม่เองกำลังป่วยกลัวลูกจะติดโรคร้าย แม่จึงจำใจต้องทิ้งลูกไว้ใต้ต้นไม้ พร้อมเงินทั้งหมดที่มีวางไว้เป็นค่าจ้างให้ใครก็ตามที่มาเจอ พาลูกไปส่งให้ถึงมือสามีเธอที่ตอนนี้อยู่อีกเมืองหนึ่ง ส่วนเธอก็เดินต่อไปตามยถากรรม

หลังจากนั้นก็พอดีมีคนช่วยเธอไว้ แล้วก็ย้ายมาอเมริกา ได้พบกับสามีใหม่และให้กำเนิดจูน ด้วยเหตุนี้ซูหยวนจึงคาดหวังในตัวลูกคนนี้มากเพราะเธอเสียลูกสองคนไปแล้ว เหลือจูนคนเดียว จนเรียกได้ว่าความหวังที่มีในตัวลูกแฝดมารวมเป็นหนึ่งอยู่ในตัวจูน … และนั่นสร้างความกดดันให้จูนถึงสามเท่า ความกดดันนั้นนอกจากจะมาจากแม่แล้ว เธอก็ยังกดดันตัวเองตามไปด้วย

ผมเชื่อว่าแม่ลูกหลายคู่มีความสัมพันธ์ลักษณะนี้ต่อกัน ประเภทว่าแม่ก็หวังให้ลูกเก่งเรื่องนี้ แต่พอลูกไม่เก่งดังคาดก็อดผิดหวังไม่ได้ จนเผลอแสดงอาการเฉยชากับลูก ซึ่งถ้าเป็นลูกคนเดียวยังพอทำเนา แต่หากมีลูกหลายคนแล้วแม่กลับเลือกที่รักมักที่ชัง โอ๋แต่เฉพาะลูกที่เก่ง แล้วลูกคนที่เหลือจะเป็นอย่างไร… ต้องรู้สึกแย่กว่าจูนหลายเท่า ไอ้ที่เขาเรียกว่าเด็กขาดความอบอุ่นนั้น สาเหตุหนึ่งก็เกิดจากอะไรทำนองนี้นั่นเอง แบบนี้ต้องคุยกันหน่อย …

Fresh Up! ขอเขียนถึงคุณแม่ก่อนเลยนะครับ ถ้าคุณแม่อ่านอยู่ หรือไม่หากลูกคนไหนรู้สึกว่าตัวเองกำลังเป็นจูน จะหยิบหนังสือไปทำหน้าที่บอกความรู้สึกแทนก็ได้ ไม่ว่ากัน

คุณอยากให้ลูกมีอนาคต มีความสามารถพิเศษและมีหน้าที่การงานดีๆ ทำ นั่นคือความหวังของพ่อแม่ทุกคน และพ่อแม่ส่วนมากก็จะเป็นคนเลือกอนาคตให้ ส่วนมากก็อยากให้ลูกเป็นในอาชีพทีมีหน้ามีตา มีเงินเดือนมากๆ แต่บางครั้งคุณอาจลืมถามลูกไปว่าเขาต้องการทำหรือไม่ อย่างที่จูนต้องประสบ เธอจำต้องเล่นเปียโนตามคำสั่งของแม่ แต่เธอไม่อยากทำ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกมักมีปัญหาลักษณะนี้มาขวางเสมอ เมื่อแม่ต้องการอย่างหนึ่งแต่ลูกต้องการอีกอย่างหนึ่ง พอทั้งคู่ไม่อาจหาทางมาบรรจบกันได้ ก็ตัดสินใจหักดิบกันไปเลย แม่ไปทาง ลูกก็ไปทาง… นั่นคงไม่ทำให้ใครมีความสุขได้หรอกนะครับ

ความหวังดีของพ่อแม่เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมครับ บางคนถึงกับวาดแปลนอนาคตให้ลูก แต่ไม่ว่าจะอย่างไรอนาคตก็เป็นของลูก สิ่งใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่เลือกนั้นมันจะอยู่กับลูกไปตลอดชีวิต ดังนั้นถ้าว่ากันตรงๆ คือลูกก็มีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตเหมือนกัน ไม่ว่าจะเรื่องอาชีพที่ทำหรือการเลือกคู่ครอง แต่พ่อแม่บางส่วนก็มีเหตุผลว่า กลัวลูกจะเลือกเดินในเส้นทางที่ไม่ถูก เลยจัดแจงวางแผนให้เสียแต่เนิ่นๆ ให้ลูกสบายไม่ต้องคิดเอง … เราต้องคิดกันนิดหนึ่งว่าที่พ่อแม่คิดว่าไม่ถูกนั้นคือ “ไม่ถูกต้อง” หรือ “ไม่ถูกใจเรา” ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าข่ายอย่างหลังมากกว่า

ทุกวันนี้ไม่ว่าอาชีพไหนๆ ก็ทำเงินได้ ในอดีตอาชีพนักเขียนที่ใครว่าไส้แห้งตอนนี้หากลูกคุณมีความสามารถจริงก็มีรายได้เป็นแสน หรือการวาดภาพศิลปะที่ดูเหมือนไร้อนาคต แต่หากลูกคุณทุ่มเทใส่จิตวิญญาณลงไป ภาพหนึ่งภาพก็มีค่าราคาเกินหมื่นได้ พ่อแม่ยุคใหม่จึงควรปรับวิสันทัศน์ให้กว้างไกลกว่าเดิม

ผมเข้าใจที่พ่อแม่เป็นห่วง แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่าเมื่อพ่อแม่ไม่ยอมเข้าใจ เอาแต่บังคับ บทสรุปที่ได้ ถ้าไม่ใช่ต่างคนต่างไป ก็จะกลายเป็นว่าลูกยอมพ่อแม่ แต่ไม่มีความสุข ต้องฝืนยิ้มทนไป แม้มีเงินแต่ก็ไม่เหลือกำลังใจ

ทางออกที่เข้าท่าสำหรับกรณีนี้คือการลองฟังลูกสักหน่อยว่าลูกอยากทำอะไร ลองพิจารณาอย่างเป็นกลางนะครับว่าลูกมีความตั้งใจแค่ไหน แล้วส่งเสริมเขา โดยการเป็นที่ปรึกษา อาจคุยกับคนอื่นเพื่อหาข้อมูลในเส้นทางที่ลูกกำลังจะก้าวเดินไปว่ามันดีแค่ไหน มันมั่นคงแค่ไหน ถ้าจะให้ดีลองหาประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพนั้นๆ มาศึกษาดูสิครับ คุณจะได้รู้ว่าทำอย่างไรลูกถึงจะไปสู่จุดสูงสุดเมื่อเลือกทางเส้นนี้ แล้วก็สอนลูก แต่ขอย้ำว่าอย่าคาดหวังว่าลูกจะต้องทำทุกอย่างดีเลิศนะครับ เผื่อใจไว้สำหรับความผิดพลาดบ้าง พร้อมเสมอที่จะโอบอุ้มและให้กำลังใจลูกเดินต่อไป ในทุกสาขาอาชีพ คนที่ประสบความสำเร็จอยู่ในแถวหน้า ล้วนเป็นคนที่ยืนหยัดต่อสู้ ทำงานแบบทุ่มเท ไม่ยอมนิ่งอยู่กับที่ หาความรู้เพิ่มเติม เพิ่มทักษะให้ตนเองตลอด

เมื่อคุณช่วยลูกให้เดินตามเส้นทางที่เขาต้องการแล้ว ก็ต้องสังเกตต่อด้วยว่าเขาพยายามแค่ไหน แต่หากเขาขี้เกียจ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรือพอลองถามแล้วลูกเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอยากทำอะไร ผมก็ไม่ว่าครับหากพ่อแม่จะต้องกลับมาวางแปลนให้ลูกใหม่ แต่อย่างน้อยก็ให้โอกาสลูกก่อน เพราะส่วนใหญ่ลูกที่มีความฝัน เขามักมีพลังที่จะเดินไปให้ถึงฝัน ขอให้พ่อแม่รู้ว่าลูกฝันถึงสิ่งไหน แล้วสนับสนุนก็จะทำให้คุณภูมิใจได้เช่นกัน

อย่าคาดหวังกับลูกจนเกินไป ยอมรับลูกในแบบที่เขาเป็นดั่งเช่นซูหยวน ตอนแรกเธอหวังกับลูกมากจนอดผิดหวังไม่ได้เมื่อลูกเล่นเปียโนไม่เอาถ่าน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในวันที่เธอกับจูนล้างจานด้วยกัน จูนเปิดเผยความในใจว่า เธอทำอะไรก็ไม่เคยถูกใจแม่ เธอตัดพ้อด้วยความน้อยใจที่แม่เย็นชามาตลอด แต่แล้วซูหยวนก็ตอบว่า เธออาจเย็นชาแต่แท้จริงแล้วเธอยอมรับจูนอย่างที่จูนเป็นมานาน เพียงแต่ไม่ได้เอ่ยปากออกมาเป็นคำพูดเท่านั้นเอง

เรื่องแบบนี้น่าเรียนรู้สำหรับพ่อแม่นะครับ คุณควรยอมรับลูกในแบบที่ลูกเป็น หากลูกมีดีแต่ไม่ใช่ในแบบที่คุณหวังก็อย่าไปค่อนขอดลูก จงยอมรับมัน เว้นแต่หากลูกมีจุดบอด คุณก็บอกและแนะนำได้ (ด้วยคำแง่บวกนะครับ อย่าพูดแบบประชด) ขณะเดียวกันคนเป็นลูก ก็รอคำดีๆ คำให้กำลังใจจากพ่อแม่เสมอ จึงเป็นหน้าที่โดยตรงที่พ่อแม่จะมอบคำดีๆ ให้ลูก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีหรือไม่ก็ตาม

ส่วนนี้ก็ขอเขียนให้คุณลูกอ่านนะครับ หากคุณต้องเผชิญหน้ากับความคาดหวังของพ่อแม่ ผมขอแนะนำให้คุณพิสูจน์ตนเองโดยการทำสิ่งที่คุณเลือกอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรทำไม่ได้หากเราตั้งใจจริง แต่จุดสำคัญคือเราต้องค้นหาตนเองให้พบเจอ ไม่ใช่ว่าตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าอยากทำอะไร แต่ออกเสียงค้านไม่เห็นด้วยกับพ่อแม่ไว้ก่อนแล้ว นั่นก็เข้าข่ายดื้อ ทางที่ดีที่สุด คือประสานประโยชน์กัน เมื่อใดก็ตามที่แม่เห็นอย่างหนึ่ง พ่อเห็นอย่างหนึ่ง ลูกเห็นอย่างหนึ่ง เราควรประสานสามทางให้กลายเป็นเส้นเดียวกัน อย่ามุ่งมั่นจะเอาชนะเป็นอันขาด อย่าทำให้คนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าตนพ่ายแพ้ เพราะมันจะกลายเป็นมะเร็งร้ายกัดกินครอบครัวทีละน้อย

เรื่องราวของ The Joy Luck Club ชวนให้เราย้อนคิดถึงแม่ บางครั้งท่านอาจทำผิดบ้าง ทำให้เราไม่สบายใจบ้าง แต่คิดในมุมกลับครับ ลูกๆ อย่างเราก็เคยทำให้ท่านหมองใจเหมือนกัน ผมจึงอยากสรุปแง่คิดของหนังให้ฟังอีกที

หากแม่ลูกไม่เรื่องไม่เข้าใจกัน จงคุยกันอย่างเปิดกว้าง

ฟังจากมุมของแม่และลูกถ้าแม่อารมณ์เสีย ลูกต้องตระหนักทันทีว่าเราจะอารมณ์เสียตามไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดรอยร้าวขึ้น (หรือหากลูกอารมณ์ร้อน นี่ก็เป็นหน้าที่ของแม่ล่ะนะครับ)

จงให้อภัยกัน บอกรักกัน ทำให้ทุกวันเป็นวันครอบครัว เป็นวันแม่และวันพ่อ

ก่อนจบผมอยากเขียนอะไรสักอย่าง … ผมคงไม่มีโอกาสเขียนตรงนี้ถ้าไม่มีบุคคลสองคนที่รักผม ห่วงใยและแนะนำผมเสมอมา … ไม่มีพ่อแม่ก็ไม่มีผม … ผมรักพ่อและแม่ครับ

ผมไม่อายที่จะบอกรักพ่อแม่ลงบล็อก… คุณก็โปรดอย่าอายที่จะพูดคำนี้

มาเป็นแนวร่วม ”ลูกที่น่ารัก” ให้พ่อแม่ชื่นใจ เป็นของขวัญที่ท่านเลี้ยงดูเรา … นะครับ

สำหรับหนังเรื่องนี้ สี่ดาวเต็มครับ

Star41(9/10)

Film and Television